วันนี้ พี่ทุยจะขอแชร์ “รถจะโดนยึด ทําไงดี” เพราะจากที่เห็นข้อมูลของเครดิตบูโรว่า “ไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค. 2566 มีบัญชีสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด ประมาณ 450,000 บัญชี และบัญชีหนี้เสียอีกประมาณ 550,000 บัญชี จึงมีความเสี่ยงว่าในช่วงเดือน ต.ค. 2566 อาจจะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1 ล้านคัน”
ก่อนไปอ่านเนื้อหาบทความพี่ทุยอยากจะขอให้เพื่อนๆ ต้องตั้งสติก่อน
ปัจจุบันข้อมูลจากเครดิตบูโรชี้ว่าประเทศไทยมียอดสินเชื่อรถยนต์ 2.6 ล้านล้านบาท ไตรมาส 1/66 53% ของสินเชื่อใหม่ได้รับอนุมัติเป็นคนรุ่น Gen Y ในจำนวนนั้นได้รับวงเงิน 5 แสนถึง 2 ล้านบาท คิดเป็น 67%
ขณะที่หนี้เสียที่ค้างจ่ายเกิน 90 วัน (NPL) เพิ่มขึ้นมาที่ 6.9% ของยอดสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด ขณะที่สัญญาณส่อเกิดหนี้เสียเพิ่มสะท้อนผ่านยอดสินเชื่อที่ค้างจ่าย 1-3 เดือน ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นหนี้เสีย เพราะว่าลูกหนี้กลับมาชำระหนี้อย่างน้อย 1 งวด เรียกกลุ่มนี้ว่าเลี้ยงงวด เพิ่มขึ้นแรงตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ถึงไตรมาส 1/66 มาที่ 7.3% ของยอดสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด โดยกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ 31-60 วัน เป็นคนรุ่น Gen Y ชัดเจน
ซึ่งในที่สุดแล้วหากสภาพการเงินส่วนบุคคลไม่ดีพอเลี้ยงงวดต่อ ก็จะเห็นหนี้กลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสีย และถ้าไม่มีการจัดการรับมือทั้งก่อนหรือระหว่างที่เป็นหนี้เสีย สุดท้ายแล้วก็อาจถูกยึดรถได้
บริษัทไฟแนนซ์จะยึดรถได้ต่อเมื่อลูกหนี้ค้างชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกันขึ้นไป และรวมก่อนยึดรถอีก 1 งวด รวมเป็น 4 งวด
ดังนั้น ต้องดูก่อนว่าตอนนี้เราค้างกี่งวดแล้ว ถ้ายังไม่ถึง 3 งวดและเริ่มรู้ตัวว่าผ่อนไม่ไหว ให้พิจารณาจากรายจ่ายที่ผ่านมาว่าทำไมถึงไม่เหลือเงินจ่าย 1-2 งวดที่ผ่านมา (กำลังจำต้องจ่ายงวดที่3) ถ้าคำนวณแล้วยังไม่มีเหลือจ่ายอีก ก็คือผ่อนไม่ไหวแล้ว
ถ้าเริ่มรู้ตัวว่าผ่อนรถไม่ไหว ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 งวดติดต่อกัน ควรเตรียมตัวอย่างรวดเร็ว เพราะการถูกยึดรถไปขายทอดตลาด นอกจากประวัติในเครดิตบูโรจะเสียแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายมากมายตามมาด้วย ดังนั้นไปดูกันว่า 3 วิธีแก้ปัญหาผ่อนรถไม่ไหว ไม่ให้รถถูกยึด หรือติดแบล็กลิสต์
ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ บริษัทไฟแนนซ์หรือลิสซิ่งมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ เช่น หยุดพักค่างวด ชำระเฉพาะดอกเบี้ย
ไฟแนนซ์ลีสซิ่งหลายแห่งงมีมาตรการ “ปรับปรุงโครงสร้างหนี้” หรือ “รีไฟแนนซ์” โดยนำยอดหนี้ที่เหลือมาขยายเวลาผ่อน ทำให้ยอดผ่อนแต่ละเดือนน้อยลงซึ่งก็แลกด้วยดอกเบี้ยที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นบ้าง
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีปัญหาก็ควรเจรจาเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งไม่ว่าจะได้รับการช่วยเหลือแบบใดอย่างน้อยก็ยังมีรถไว้ใช้และไม่ส่งผลเสียต่อเครดิตทางการเงิน
ถ้าคิดว่าคงไม่อยากชำระหนี้แล้ว การขายรถต่อโดนเปลี่ยนสัญญาไปให้ผู้อื่นผ่อนต่อ ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งเงินที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับราคาตลาด ณ ตอนนั้นว่า มากหรือน้อยกว่ายอดหนี้ที่เหลืออยู่
จากที่บริษัทไฟแนนซ์จะสามารถยึดรถได้นั้นก็ต่อเมื่อ “ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกันขึ้นไป และรวมก่อนยึดรถอีก 1 งวด รวมเป็น 4 งวด” ก็เลยมีลูกหนี้บางส่วนที่ยอมจ่าย 1 งวดก่อน เพื่อทำให้ไม่โดนยึดรถแล้ว กลุ่มนี้เรียกว่า “เลี้ยงงวด”
ฟังแล้วเหมือนจะดี ว่าเราไม่โดนยึดรถ ด้วยการ “เลี้ยงงวด” ไปเรื่อย ๆ แบบพอจะค้างชำระติดต่อครบ 3 เดือนก็จ่ายที ง่าย ๆ คือ เหมือนจ่ายค่างวดทุก 3 เดือนเป็นระยะ
แต่กำลังลืมไปหรือไม่ว่า เมื่อมีการค้างชำระหนี้ 1 ครั้ง ไฟแนนซ์จะคิดค่าทวงถามหนี้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ด้วย
เท่ากับว่า เมื่อผ่อนชำระค่ารถยนต์จนหมด ไฟแนนซ์จะเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากผู้บริโภคที่ค้างก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้ ง่าย ๆ คือ มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มากกว่าดอกเบี้ย
นอกจากนี้ หากเกิดคำนวณพลาด ลืมจ่าย ถึงเวลาไม่มีเงินมาเลี้ยงงวด เท่ากับว่า การค้างชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกัน ถือว่าผู้บริโภคผิดสัญญา ไฟแนนซ์สามารถบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ได้ รวมทั้งสามารถเรียกค่าส่วนต่าง ค่าธรรมเนียม และค่าทวงถามหนี้ได้อีกด้วยนะ
แล้วถ้าเราผ่อนไม่ไหวแล้ว ต่อให้ปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่รอด หาคนเปลี่ยนสัญญาไม่ได้ อยากคืนรถ จะทำได้หรือไม่ พี่ทุยก็มีคำตอบ
สามารถทำได้ นำรถไปคืนไฟแนนซ์ โดยตอนส่งมอบควรที่จะ
ถ้าลูกหนี้ปล่อยให้เกิดการค้างชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกันขึ้นไป และรวมก่อนยึดรถอีก 1 งวดเป็น 4 งวด สินเชื่อที่ชำระอยู่กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) แล้วถูกไฟแนนซ์ตามทวงและขู่ยึดรถ ดังนั้น ที่ควรรู้เมื่อสถานการณ์ถึงขั้นนี้
คือ ค้างชำระค่าหนี้ 3 งวดติดต่อกันขึ้นไป ก่อนยึดรถอีก 1 เดือน รวมเป็น 4 เดือน ดังนั้น ถ้าไฟแนนซ์ยึดรถก่อนหน้านี้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (คุ้มครองเกี่ยวกับสัญญา) ผู้เช่าซื้อต้องอย่ายอมให้ยึดรถ และให้เรียกตำรวจมาเป็นพยานหากเราไม่ยินยอมให้ยึดรถ ไฟแนนซ์ไม่สามารถบังคับ หรือข่มขู่ได้
คือ บริษัทไฟแนนซ์มักจะกดดันด้วยการขู่เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งการเรียกค่าเสียหายจะเรียกได้ตามที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น
ถ้าเกิดการบังคับ ขู่เข็ญ หรือไล่ให้ผู้เช่าซื้อ หรือกระชากกุญแจรถไป หรือแม้แต่เอากุญแจสำรองมาเปิดรถ และขับไปถือว่าทำความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และถ้ากระทำการโดยมีอาวุธหรือร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเก็บหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้
แต่พี่ทุยไม่ได้บอกว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เราเป็นหนี้เราก็ควรเป็นลูกหนี้ที่ดี งั้นจะทำยังไงต่อ เจรจากับไฟแนนซ์เพื่อหาทางออก
สำหรับผู้ที่โดนไฟแนนซ์เรียกเก็บเงินที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงสามารถจ้างทนาย หรือติดต่อทนายอาสา* สู้ในชั้นศาลได้ อย่าเพิ่งรีบจ่าย
หากแพ้คดี บริษัทไฟแนนซ์ก็จะยึดทรัพย์ได้แต่ในนามลูกหนี้เพื่อชดใช้เงินได้เพียงเท่านั้น ไม่กระทบต่อผู้อื่นในครอบครัว ญาติพี่น้อง และลูกหนี้จะไม่ติดคุก เพราะเป็นคดีแพ่งไม่ใช่อาญา
ไม่ติดคุกเพราะเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา และการเป็นหนี้ไฟแนนซ์ ถือเป็นหนี้สินเรื่องส่วนตัว ไฟแนนซ์ไม่สามารถนำเรื่องส่วนตัวไปประจานที่บริษัทที่ลูกหนี้ทำงานอยู่รับรู้ได้ ถ้าทำถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ฟ้องกลับได้เช่นกัน
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์หนี้รถยนต์ของประเทศไทยเริ่มมีความน่าเป็นห่วง ยังไม่รู้ว่ากลุ่มลูกหนี้ที่เลี้ยงงวดจะอยู่รอดไปได้อีกนานแค่ไหน ซึ่งในระยะอันสั้นอาจมีปริมาณหนี้เสียมากกว่านี้
ถ้าเริ่มรู้ตัวว่าเริ่มผ่อนสินเชื่อรถยนต์ไม่ไหวควรเจรจากับบริษัทไฟแนนซ์หรือขายเปลี่ยนสัญญา สุดท้ายถ้าเข้าข่ายหนี้เสียก็ต้องเตรียมตัวรับผลกระทบและค่าใช้จ่ายที่จะตามมา แต่พี่ทุยขอแนะนำว่าอย่ารอให้ถึงขั้นหนี้เสียจนไฟแนนซ์มายึดรถ เพราะค่าเสียหายจะมีมากกว่าที่คิดแน่นอน ทั้งเสียเวลาและค้าใช้จ่าย
ข้อมูลจาก : moneybuffalo