เปิด 5 ปัญหาเศรษฐกิจไทย ที่รอรัฐบาลใหม่มาสะสาง

Posted by nor-arfah on April 15, 2023

เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งเป็นที่ชัดเจนแล้ว เหล่าบรรดาพรรคการเมืองและผู้สมัครลงเลือกตั้งต่างระดมโหมเคมเปญ เพื่อชูนโยบายเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนกันอย่างหนัก โดยเฉพาะ ปัญหาเศรษฐกิจไทย เพราะถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับประชาชนมากที่สุด

ถึงกระนั้น แม้จะมีหลายนโยบายและมาตรการออกมาให้เลือกสรร แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับมีโจทย์ใหญ่ที่เพียงไม่กี่ข้อที่เป็นจุดที่ประเทศไทยต้องรีบแก้จริงๆ และกำลังรอคอยรัฐบาลชุดใหม่มาตัดสินใจอยู่ นั่นก็คือ

1. หนี้ครัวเรือน

เริ่มที่โจทย์ข้อแรก คือ “หนี้ครัวเรือน” เพราะตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านประชาชนคนไทยมีการกู้หนี้ยืมสินกันเยอะมาก จนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาโดยตลอด

ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่าในไตรมาส 3 ปี 2565 ไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.8% ต่อ GDP

การมีหนี้มากไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากเป็นหนี้แล้วกลับไม่มีเงินไปใช้คืน แถมรายได้ก็หดหาย ก็ย่อมเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจขึ้นทันที เพราะเงินที่ผู้กู้ปล่อยไปให้ยืมก็กลายเป็นหนี้เสียทันที

สัญญาณนี้เริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ เพราะข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่ายอดหนี้คงค้างที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 1.40 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.62% ต่อสินชื่อโดยรวม แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ หนี้เสียส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในรายการบัตรเครดิต ที่อยู่อาศัย และยานยนต์

สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ข้อมูลหนี้ครัวเรือนยังไม่ได้นับรวมกับหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาในระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง เพราะคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องขบคิดและคิดหาวิธีแก้หนี้ให้กับประชาชนอย่างจริงจัง

2. หนี้สาธารณะ ปัญหาเศรษฐกิจไทย ที่เรื้อรังมานาน

โจทย์ข้อที่สอง คือ “หนี้สาธารณะ” ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการกู้เงินจำนวนมากของรัฐบาลเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับประชาชนจากผลกระทบของโรคโควิด-19

ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ทั้งสิ้น 10.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.13 % ของ GDP ณ เดือน ก.พ. 2566

แม้ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วจะแก้กฎหมายเพื่อขยายเพดานหนี้ไปอยู่ที่ไม่เกิน 70% ของ GDP แล้ว แต่หากยังไม่สามารถหาวิธีลดรายจ่ายของภาครัฐลงได้ก็น่าห่วงอยู่เหมือนกัน

เพราะประเทศไทยใช้งบประมาณแบบขาดดุลมาต่อเนื่องกันมา 16 ปีแล้ว และยังคงจะมีทีท่าว่าจะขาดดุลต่อไปอีกจากแผนการใช้จ่ายของกระทรวงการคลัง

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดหน้าจะต้องเข้ามาเพื่อทำให้ระบบการเงินการคลังของประเทศกลับเข้าสู่ความยั่งยืนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้เข้ามาเพิ่มเติม หรือ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

3.เงินเฟ้อ ของแพง ค่าแรงต่ำ

โจทย์ข้อที่สาม คือ “เงินเฟ้อ ของแพง แต่ค่าแรงแสนถูก” เพราะผลพวงจากต้นทุนน้ำมัน และปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ไทยซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานประสบกับกับหาข้าวยากหมากแพงเข้าเต็ม ๆ สร้างความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าเดือน มี.ค.2566 เงินเฟ้อของไทยจะลดลงมาอยู่ที่ 2.83% แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่

ในขณะที่ค่าแรงในแต่ละวันที่ประชาชนได้รับกลับไม่ขยับขึ้นตามเลย โดยล่าสุดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328 – 354 ต่อวันตามแต่ละพื้นที่

ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดำรงชีวิตและปากท้องของประชาชนอย่างมาก ซ้ำร้ายยังทำให้ช่องว่างรายได้ระหว่างคนหาเช้ากินค่ำกับคนรวยที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจถ่างออกจากกันมากขึ้น

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดหน้าต้องรีบเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

4. การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ

โจทย์ข้อที่สี่ คือ “ปัญหาทุนใหญ่ผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ” เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจของบริษัทรายใหญ่ต่างครอบงำตลาดไว้ในกำมือเป็นส่วนมาก ไม่จะเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีการสื่อสาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เหลือโอกาสให้รายเล็กรายน้อยได้ทำมาหากินได้ยากลำบาก

มิหนำซ้ำธุรกิจรายใหญ่ยังอาศัยวิธีการสร้างแบรนด์ย่อยของตนเองมาเจาะตลาดแข่งอย่างดุเดือด

เป็นที่น่าผิดหวังยิ่งที่แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายแข่งขันทางการค้า และมีองค์กรที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวโดยตรง แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีการดำเนินคดีในประเด็นดังกล่าวออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเลย

ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะต้องเร่งขจัดปัญหาการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และขจัดทุนใหญ่ผูกขาดให้หมดไปจากสังคมไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

5. สังคมสูงวัย ปัญหาเศรษฐกิจไทย ยุคใหม่

โจทย์ข้อที่ห้า คือ “สังคมสูงวัย” เพราะนับตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แบบแล้วจากการที่มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว

ปัญหานี้เกิดขึ้นมา เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง แต่คนมีแนวโน้มที่จะอยู่ได้ยาวนานขึ่น ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรติดลบ

ซึ่งส่งผลต่อภาระทางการเงินการคลังของประเทศที่ต้องแบกรับกับการดูแลคนสุงวัยจากการเบิกสวัสดิการต่าง ๆ ในขณะที่จำนวนคนงานวัยแรงงานที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศกลับมีจำนวนลดลง

จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องมาขบคิดให้ดีถึงการรับมือ ควบคู่กับการสร้างระบบสวัสดิการและระบบการเงินการคลังให้ยั่งยืนได้อย่างไร

ทั้ง 5 โจทย์ทางเศรษฐกิจนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานต่ออย่างยิ่ง

เพราะปัญหาเหล่านี้คือปัญหาที่ฝังรากในไทยมาเนิ่นนาน จึงต้องอาศัยวิธีการแก้ในเชิงระบบ และการดำเนินการอย่างจริงจัง

ข้อมูลจาก : moneybuffalo