5 โรคร้ายทางการเงิน ที่ต้องรักษาด่วน !

Posted by nor-arfah on November 10, 2022

นอกจากเราจะตรวจสุขภาพร่างกายหาโรคร้ายแล้ว แต่อย่าลืม ตรวจสุขภาพทางการเงิน ด้วยนะ โรคร้ายทางการเงินก็เป็นสิ่งที่เราต้องระวังและรีบจัดการด่วนเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้วอนาคตเราอาจจะไม่สดใสอย่างที่คิดไว้

วันนี้เราได้รวบรวม โรคร้ายทางการเงิน ที่ต้องระวัง ลองมาสำรวจดูว่าใครกำลังมีอาการแบบนี้มั้ย ถ้ามีก็ควรจะรีบหาทางจัดการโดยด่วนเลย

1.โรคความต้องการสูง แต่มีเงินต่ำ

อาการ :

เกิดจากไลฟ์สไตล์การใช้เงินที่มีความต้องการซื้อสิ่งของหรือใช้บริการต่างๆ มากเกินความจำเป็น ทั้งสินค้าราคาถูกจนถึงสินค้าพวก Brandname ที่มีราคาแพง แต่จำนวนเงินในกระเป๋ากลับมีอยู่น้อยนิด เรียกง่ายๆ ว่า อยากได้ของเยอะ แต่มีเงินไม่พอซื้อของที่อยากได้ทั้งหมด

วิธีรักษาเบื้องต้น :

เปลี่ยนพฤติกรรมใช้จ่ายเงิน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเริ่มวางแผนทางการเงิน แบ่งเงินไปออมไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินและนำอีกส่วนไปลงทุนต่อยอดให้เงินงอกเงย

2.โรคทรัพย์จาง

อาการ :

มีเงินใช้พอทั้งเดือน แต่ช่วงปลายเดือนเงินจะร่อยหรอ ต้องใช้เงินอย่างประหยัดเพื่อให้อยู่รอดจนถึงวันเงินเดือนออก ส่วนใหญ่โรคนี้พบในช่วงวัยทำงาน และ/หรือ กลุ่มพนักงานเงินเดือน

วิธีรักษาเบื้องต้น :

บริหารรายได้ต่อเดือนให้ใช้จ่ายเพียงพอ แบ่งเงินใช้อย่างชัดเจน โดยอาจจะใช้แนวคิด 6 Jars System ของ T.Harv Eker

3.โรคหมุนเงินวนไป

อาการ :

เกิดจากตัวเองช็อตเงิน มีเงินในกระเป๋าไม่พอใช้ จนต้องหยิบยืมเงินคนอื่นมาหมุนใช้ก่อนแล้วค่อยเอาไปคืนทีหลัง หรือบางทีก็กดเงินสดจากบัตรมาใช้จ่าย และอาจทำให้เกิดหนี้ก้อนโตในอนาคตหากเราไม่มีเงินไปชำะหนี้

วิธีรักษาเบื้องต้น :

เปลี่ยนพฤติกรรมใช้จ่ายเงิน จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อดูว่าเราใช้จ่ายอะไรบ้าง และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หากเป็นไปได้ก็ควรเลิกใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

4.โรคเกษียณไม่ได้

อาการ :

เมื่อใกล้ช่วงเกษียณอายุแล้ว แต่ยังไม่เริ่มออมเงิน หรือมีเก็บเงินเพื่อเกษียณแล้วแต่คิดว่าคงไม่พอใช้จ่ายเลี้ยงตัวเองตอนเกษียณ นอกจากนี้ก็ไม่สามารถพึ่งพาเงินจากลูกหลานได้อีก

วิธีรักษาเบื้องต้น :

เริ่มวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง ใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อให้มีเงินเก็บออมไปใช้ช่วงหลังเกษียณมากขึ้น รวมถึงวางแผนการเงินหลังเกษียณอย่างรอบคอบ ทั้งการใช้จ่ายและกระแสเงินสดรับในช่วงนั้นด้วย

5.โรคออมเงินล้มเหลว

อาการ :

ตั้งใจจะออมเงิน แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เริ่มออมเงินสักที เอาเงินไปใช้จ่ายจนไม่เหลือเงินออม

วิธีรักษาเบื้องต้น :

เปลี่ยนพฤติกรรมใช้จ่ายก่อนออม มาเป็นออมก่อนใช้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือฟรีแลนซ์เมื่อมีรายได้ก็ควรจะหักไปออมหรือลงทุนอย่างน้อย 10-20% ของรายได้ และควรสร้างวินัยการออมเงินต่อเนื่องทุกเดือน

ข้อมูล : finspace