“ออมเงิน” ทำไมถึงดูเป็นเรื่องยากเหลือเกินหลาย ๆ คนต้องเคยรู้สึกแน่ ๆ เพราะตอนนี้แค่ใช้เงินเดือนชนเดือนก็เหนื่อยแล้ว บางเดือนดูเหมือนจะไม่ชนเดือนซะด้วยซ้ำไป พี่ทุยบอกได้เลยว่าพี่ทุยก็เคยรู้สึกและกว่าจะบังคับขืนใจตัวเองให้เริ่มออมเงินเป็นกับเค้าบ้าง ก็ใช้เวลาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน บทความนี้พี่ทุยเลยจะลองมาแชร์ดูว่าพี่ทุยใช้เทคนิคอะไรบ้างที่ทำให้เราเริ่มมีเงินออมจริง ๆ สักที
ลองมาสำรวจตัวเองกันว่าทำไมเมื่อก่อนที่เราไม่มีเงินออมเนี้ยเกิดจากอะไร ? ส่วนตัวพี่ทุยเองค้นพบว่าเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะเก็บเงินไปทำไม เวลาที่คนเราไม่มีเป้าหมาย ชีวิตล่องลอยไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะงงและหลงทางไปเรื่อย ๆ ลองนึกถึงเวลาที่เปิดประตูก้าวออกจากบ้าน แต่เราไม่รู้ว่าเราจะไปไหน เราก็จะเดินทางมั่วไปหมด แล้วก็จะไม่ถึงเป้าหมายซะที เรื่องการออมเงินก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่รู้ว่าเราออมเงินไปเพื่ออะไร เราจะไม่อยากออมเงิน แต่อยากใช้เงินมากกว่าเพราะเรารู้ว่าเราอยากได้อะไร
ดังนั้นเราควรกำหนดเป้าหมายการออมเงินให้ชัดก่อนเสมอ เอาให้ตัวเราเองรู้ว่าเราออมเงินไปเพื่ออะไร เพื่อใคร และจะออมไปทำอะไร พี่ทุยเชื่อว่าเราก็จะมีกำลังใจและความตั้งใจที่จะออมเงินมากขึ้น
ช่วงแรกที่พี่ทุยเริ่มออมเงิน พี่ทุยก็อ่านหนังสือพวกการเงินเยอะพอสมควร วิธีหนึ่งที่หนังสือหลาย ๆ เล่มทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบอกก็คือให้ทำ “บัญชีรายรับรายจ่าย”
พี่ทุยก็เลยลองทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายดู สิ่งที่ค้นพบพอถึงสิ้นเดือนนั่นก็คือ พี่ทุยเจอรายจ่ายที่สิ้นเปลืองเยอะมาก ! ก็เลยมานั่งคิดเอาเองว่า เฮ้ยเรากินเยอะขนาดนั้นเลยเหรอ ทำไมค่าใช้จ่ายเรื่องเที่ยวมันเยอะแบบนี้ พอรู้ตัวก็เลยรู้ว่าเราควรประหยัดตรงไหน บริหารรายจ่ายยังไงให้เหลือเงินเก็บ
วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ดี เพราะช่วงแรกๆที่พี่ทุยเริ่มออมเงิน การใช้วิธีหักออมก่อนใช้เสมอ หรือเรียกว่าใช้ สมการเงินที่ถูกต้อง คือ รายได้ – เงินออม เท่ากับ ค่าใช้จ่าย เพราะเมื่อก่อนพี่ทุยใช้สมการเงินแบบผิดๆมาโดยตลอด คือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย เท่ากับ เงินออม
ส่วนตัวพี่ทุยตอนนั้นก็ยังไม่ได้รู้เรื่องลงทุนอะไรมาก ก็เลยไปถามรุ่นพี่ที่เค้าเล่นหุ้นอยู่เค้าบอกว่าให้เริ่มต้นที่หักออมอัตโนมัติกับกองทุนรวมตลาดเงินไปเลย แต่พี่ทุยว่าใช้หักออมอัตโนมัติกับเงินฝากประจำก็เป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมาก ผลตอบแทนไม่ต่างกันเท่าไหร่ แค่ต่างกันเรื่องสภาพคล่องเล็กน้อยเท่านั้น
พอ 1 ปีผ่านไป พี่ทุยก็เห็นการออมเงินที่เราเก็บมาตลอด เห็นเงินเป็นก้อนเลย ก็ได้แต่คิดว่าคนที่ไม่เคยมีเงินเก็บแบบเราก็สามารถทำได้เหมือนกันนี่หน่า ! บอกเลยว่าทำให้กำลังใจในการเก็บเงินออมเงินดีขึ้นเยอะมาก พอเราเห็นเงินก้อนที่เราไม่เคยเก็บได้ ถ้าให้พี่ทุยแนะนำลองเริ่มที่ 10% ของรายได้ไปก่อนก็ได้ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าสามารถเก็บได้มากกว่านั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเลยทีเดียว
วิธีนี้ง่ายมาก คือ เวลาที่เราจ่ายแบงค์ 100-500 บาท หรือว่าแบงค์ 1,000 บาทออกไป เวลาได้รับเงินทอนมาแล้วมีแบงค์ 50 บาท ก็ให้เอาไปหยอดกระปุก พี่ทุยลองเดือนนึงก็ได้เป็นพันอยู่นะ เวลาแม่ค้าถอนแบงค์ 50 บาท ก็ดีใจถือว่าได้ออมเงินเพิ่มเติมไปเลย
พี่ทุยเชื่อว่ารายจ่ายมากที่สุดน่าจะเป็นรายการเรื่องค่ากินเนี้ยแหละ โดยเฉพาะช่วงเงินเดือนออก เดี๋ยวก็เนื้อย่าง เดี๋ยวก็ชาบู กินกันกระหน่ำมาก ๆ ตอนที่พี่อยากเริ่มเก็บเงินพี่ทุยเลยบอกกับตัวเองว่า ถ้ากินชาบู 500 บาท เราต้องออมเพิ่มอีก 500 บาทเสมอ !! วิธีนี้ดีมากสำหรับพี่ทุย กินน้อยลงมีเงินเหลือ แถมได้ลดน้ำหนักไปในตัว
ลองเอาเทคนิคแนว ๆ นี้ไปใช้กันดูนะ พี่ทุยลองใช้เทคนิคพวกนี้แล้วเห็นผลดีเหมือนกัน เหมือนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ แต่บอกได้เลยว่าเห็นง่าย ๆ เนี้ยแหละ ตอนช่วงแรกก็เหนื่อยอยู่เหมือนกัน พี่ทุยอยากให้ลองใช้กันดูจริง ๆ ได้ผลลัพธ์กันยังไงอย่าลืมมาบอกมาแชร์กันด้วย เผื่อคนอื่น ๆ จะได้เลียนแบบและมีสุขภาพการเงินที่ดีขึ้น เพราะพี่ทุยอยากเห็นคนไทยทุกคนมีสุขภาพการเงินที่ดีขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลจาก : moneybuffalo