2021 เป็นปีที่มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น ทั้งเป็นปีที่เรากำลังมีความหวังว่า เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่กลับต้องชะงักเมื่อการระบาดของไวรัสกลับมาอีกครั้งในช่วงกลางปี รวมทั้งการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจคาดเดาไม่ถูกว่า ในอนาคตระยะสั้น-ยาวนี้ จะเกิดอะไรขึ้นอีก.. และเราควรผลักดันธุรกิจให้ไปในทิศทางไหนกันแน่..
และเมื่อเรากำลังเข้าสู่ปี 2022 ช่วงต้นปีที่เจ้าของธุรกิจควรเริ่มคิดอย่างจริงจังว่า ธุรกิจเราจะดำเนินไปทางไหนต่อ วันนี้ เพียร์ พาวเวอร์ได้รวบรวม แผนพัฒนาธุรกิจ จากบทสัมภาษณ์ของ 6 ผู้นำองค์กร ที่ได้แบ่งปันมุมมอง เพื่อนำมาปรับใช้ผลักดันองค์กร ในปี 2022 ที่จะถึงนี้
Alexandra และ Stephanie King ผู้ร่วมก่อตั้ง Ask Marketing ได้เริ่มการปรับเวลาการทำงานของทีม ให้เป็น รูปแบบ nine-day working fortnight (หนึ่งในรูปแบบ การบีบอัดตารางงานพนักงาน เพื่อให้มีวันหยุดมากขึ้น) ซึ่งเกิดจากการที่ทั้งคู่อยากให้ทีมงานได้พักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ นั้น ทำให้เวลาส่วนตัว และเวลาการทำงานของพนักงาน ไม่ได้ถูกแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน และคนในทีมก็เริ่มที่จะเหนื่อยล้ากับสภาวะการทำงานดังกล่าว Alexandra และ Stephanie King จึงเล็งเห็นสำคัญที่จะต้องทำให้แน่ใจว่า คนในทีมสามารถพักผ่อนได้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวทำให้ ประสิทธิภาพของงาน และแรงจูงใจพุ่งสูงขึ้น โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด “มันจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการเติบโตทางธุรกิจต่อไป เพราะทีมสามารถทำงานได้ดีที่สุด”
Casey Patch ผู้ก่อตั้ง Little Lifelong Learners มีแผนที่จะรีเฟรชรูปแบบการทำการตลาด โดยจะให้ความสำคัญกับ Automating Email Marketing มากยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าทางองค์กรกำลังดูแล และให้ความสำคัญ กับลูกค้าปัจจุบัน ไม่น้อยไปกว่าลูกค้าใหม่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การทำการตลาดกับลูกค้าปัจจุบันนั้น ง่ายกว่าการหาลูกค้าใหม่เป็นอย่างมาก เราจึงควรจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกับเรา และเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้เรามาหลายปี มากยิ่งขึ้น
นั่นหมายถึงเราต้องเริ่มตั้งแต่ ทำความรู้จักลูกค้า รู้จักกระบวนการขาย หรือ ประสบการณ์ของลูกค้า เพื่อนำไปจัดทำ ลำดับการส่งข้อความ และเนื้อหาในการส่ง ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อที่จะให้แน่ใจว่า Email Marketing ของเราตอบโจทย์กับ ประสบการณ์ของลูกค้าในแต่ละจุด
บุคลากรในองค์กรก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากเช่นกันในการขับเคลื่อนธุรกิจ Jonathan Maxim CEO ของแอปสอนภาษา HeyPal ได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่ COVID-19 สอนเรา คือ เราต้องรักษาความสัมพันธ์ และสร้างความไว้วางใจให้แก่ลูกค้า รวมถึงพนักงานของเรา .. ถ้าเราในฐานะผู้นำองค์กร สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงาน 50 คนได้ พนักงานเหล่านั้นก็จะขับเคลื่อน และสร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้ขยายไปในวงกว้าง อาจเป็นส่งต่อให้แก่ลูกค้าเราได้กว่า 5,000 คน หรือ ผู้ถือหุ้นเราอีกกว่า 50,000 คน นี่คือความน่าสนใจของการขับเคลื่อนที่ถูกส่งต่อเป็นทอด ๆ” ดังนั้นนอกเหนือจากการลงทุนในเทคโนโลยีแล้ว เจ้าของธุรกิจควรจะให้ความสำคัญ และหาวิธีในการพัฒนาคนในทีมด้วย
Benedikt von Braunmühl ผู้บริหารของ HMNC Brain Health บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้านเวชภัณฑ์ ได้กล่าวไว้ว่า “ในเวลานี้เราควรจะให้ความสำคัญกับ สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดนั้น นอกจากจะสร้างความเครียดให้เจ้าของธุรกิจแล้ว พนักงานก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความเครียดสูงขึ้นเช่นกัน
“ในช่วงปีที่ผ่านมา หลาย ๆ คนเริ่มประเมินการใช้ชีวิตของตัวเองว่า พวกเขาให้คุณค่าอะไรในการใช้ชีวิต และตัวเลือกอันดับแรก คือ ครอบครัว นั่นหมายความว่า เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องสร้างสถานที่ทำงานที่ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นหลัก มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียสมาชิกในทีมที่ดีที่สุดไป เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจำเป็นต้องสร้างค่านิยมในที่ทำงานร่วมกับทีมของตน และทำให้แน่ใจว่าผู้คนในทีมให้ค่านิยมเหล่านั้นทุกวัน” – Alex Draper ผู้ก่อตั้ง DX Learning Solutions
ดังนั้น เจ้าของธุรกิจควรมองหานโยบาย แผนพัฒนาสภาพแวดล้อมในทีม ที่สามารถจัดการกับ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อลดจำนวนอัตราคนลาออก และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้คนในทีมมากยิ่งขึ้น
Clare Jones ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการของ OfficeSpace.com.au ได้ทำการวิเคราะห์ตลาดถึงความต้องการในการเช่าสำนักงาน เพื่อใช้ในการปรับปรุงแผนพัฒนาธุรกิจให้ตรงตามคาดหวังของลูกค้า โดยได้มีการปรับแผนการปล่อยเช่าออฟฟิศให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีแผนเช่าระยะสั้น แผนผังพื้นที่แบบ Open-plan (แนวคิดที่เน้นการออกแบบผังภายในบ้านให้มีความโปร่งโล่งสบาย ด้วยการจัดวางพื้นที่ให้เปิดโล่งเชื่อมถึงกันแบบไร้ผนังกั้น) รวมถึง สามารถให้ผู้เช่าเลือกสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กำหนดเองได้ “เราคาดว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง ในปี 2565 เนื่องจากธุรกิจจะเริ่มกลับมาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น และพวกเขาก็มองหาโซลูชันสำนักงานที่ยืดหยุ่น และราคาไม่แพง ตามที่ตลาดกำลังมองหา ”
แทนที่จะเติบโตเพียงลำพัง Anne Phey จาก Leadership Coaching School ได้ให้คำแนะนำว่า เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ ผ่านการสร้างคอนเนคชั่นกับเจ้าของธุรกิจรายอื่น เพราะเราจะได้มุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องความท้าทายในการทำธุรกิจ จากประสบการณ์ของผู้อื่นอีกด้วย
ช่วงเวลานี้เป็นเหมือนบททดสอบสำหรับเจ้าของธุรกิจ ทั้งในแง่การปรับตัว กับสภาวะความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเชนทั่วโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ได้รับผลกระทบมาจาก COVID-19 ดังนั้นเพื่อที่จะนำพาทีม และองค์กรก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้หนึ่งในสิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจควรมีในฐานะผู้นำ คือ ควรมีทัศนคติเชิงบวก ซึ่งการมี “ทัศนคติบวก” นั้นรวมไปถึงการมองหาโอกาสที่จะเติบโตในหนทางที่พบอุปสรรคหรือปัญหา
ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เจ้าของธุรกิจเองต้องให้กําลังใจคนในองค์กรและไม่จมปลักไปกับปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องพยายามมองหาจุดแข็งขององค์กรเพื่อใช้ในการพัฒนาทีมของตนเอง และหาทางออกให้กับองค์กร เจ้าของธุรกิจไม่ควรตัดทอนกําลังใจคนในองค์กร เพราะจะทําให้ประสิทธิภาพการทํางานลดลง คนในทีมจะมัวแต่กังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันการพูดในแง่มุมที่ดีจะทําให้ทีมมีทัศนคติเชิงบวก และพยายามทําผลงานให้ดีที่สุด เราควรมองวิกฤตเป็นโอกาส ทั้งโอกาสที่จะได้ทบทวนตัวเอง โอกาสที่เริ่มสิ่งใหม่ เปลี่ยนการมองปัญหา ให้เป็นการมองความท้าทาย
ข้อมูลจาก : PeerPower