อิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial Freedom พื่ทุยเชื่อว่า เป็นคำที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ที่ต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ ฝ่ารถติด ฝ่าคนแน่น ๆ บนรถไฟฟ้า เพื่อมาทำงานในเมืองให้ทันเวลา ทำงานงก ๆ ทั้งวัน เหนื่อยสายตัวแทบขาด เพื่อนำเงินเดือนมารักษาโรคปวดหลัง (เอ๊ย ไม่ใช่!)
แน่นอนว่าการปลดพันธนาการจากเรื่องเงิน เพื่อจะมีชีวิตที่ไม่ต้องทำงาน มีเงินเข้ามาให้ใช้ได้ในทุกเดือน อยากทำอะไรก็ได้ตามใจ จะเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของหลายคน แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ได้มาอย่างง่ายดาย กว่าจะไปถึง ต้องอดทน ใช้เวลา และความรู้ จนหลายคนก็ไปไม่ถึงฝัน
แต่เรื่องที่เป็นไปได้ยาก ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ บทความนี้พี่ทุยขอเลยอยากพาไปรู้จักกับ 6 ขั้นตอน สร้างอิสรภาพทางการเงิน ที่วัยรุ่น วัยทำงาน หรือใครก็ทำได้
อิสรภาพทางการเงิน คือ การที่มีเงินมากพอใช้ชีวิตได้แบบที่ต้องการอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งทำงานต่อไปโดยมีเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากเรื่องเงิน
นั่นหมายความว่าจะต้องมีเงินมากพอหรือปล่อยให้เงินทำงานจ่ายกระแสเงินสดออกมาเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต้องการ
"Financial Freedom = When you no longer have to worry about money"
ซึ่งเงินส่วนที่จะช่วยเราปลดแอกพันธนาการนี้ได้ ก็คือ รายได้จากสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่าอสังหาฯ ค่าสิทธิบัตรลิขสิทธิ์
โดยที่สินทรัพย์เหล่านี้ เราต้องสร้างมันขึ้นมาและคอยดูแลบริหารจัดการทรัพย์สิน ทำให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แม้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
เราจะชี้ให้เห็นว่า อิสรภาพการเงินแบบไม่ต้องทำอะไรเลยเนี่ย มันไม่ได้มีอยู่จริง ๆ หรอก ยกเว้นแต่บางคนที่โชคดีได้รับมรดกตกทอดจากรุ่นพ่อแม่ รุ่นปู่ย่าตายาย ที่สั่งสมมาให้แล้วเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท แค่นำเงินไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยก็เพียงพอแล้ว
แต่อย่าลืมว่า มีได้ ก็หมดได้เช่นกัน! ถ้าไม่คิดจะรักษาหรือต่อยอดการลงทุนไว้ให้ดี
คำตอบนี้หาได้จากการถามตัวเองว่า เราจะใช้ชีวิตแบบมีอิสรภาพทางการเงินกี่ปีและการใช้จ่ายแต่ละเดือนเพื่อคุณภาพชีวิตมากน้อยแค่ไหน ? โดยพี่ทุยจะลองให้สูตรคำนวณอิสรภาพกางเงิน ดังนี้
จำนวนเงินที่ต้องมีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน = จำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อปี x จำนวนปี x ตัวเลขเงินเฟ้อ
เช่น ต้องการใช้ชีวิตมีค่าใช้จ่าย 30,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้ชีวิตแบบไม่ทำงาน 30 ปี แสดงว่าต้องใช้เงินทั้งหมด 10,800,000 บาท แต่นี่ยังไม่คิดผลของเงินเฟ้อซึ่งเมื่อถึงเวลาใช้ชีวิตมีอิสรภาพทางการเงิน ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มไปแล้วเท่าตัว ในความจริงจึงควรมีเงินทั้งหมด 10,800,000 x 2 = 21,600,000 บาท
แล้วทำไมเงินเฟ้อต้องคูณสอง นั่นก็เพราะว่า จากสถิติข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของไทย ตกเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 % โดยประมาณ (แต่ปี 2565 นี้ เงินเฟ้อน่าจะเกิน 3% แน่นอน)
หลายคนอาจจะบอกว่าพี่ทุยพูดเว่อร์หรือเปล่า แต่อยากให้ลองนึกดู ว่า 20 ปีที่แล้วก๋วยเตี๋ยวชามเดียวแค่ 20 บาท แต่ตอนนี้ชามละ 40-50 บาท เข้าไปแล้ว และแนวโน้มในอนาคต เงินก็จะเฟ้อไปเรื่อย ๆ แบบนี้
และต้องบอกว่านี่เป็นการตีเลขคร่าว ๆ เท่านั้น สำหรับบางคนเงินที่ใช้ในแต่ละเดือนอาจจะมากกว่านี้ เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตต่างกัน ทำให้มูลค่าของอิสรภาพทางการเงินของแต่ละคนไม่เท่ากัน
แต่อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญคือ ควรมีเงินเผื่อเหลือไว้ดีกว่าขาด พี่ทุยเลยอยากบอกว่าควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ โดยลองทำตาม 6 ขั้นตอน ดังนี้
เริ่มต้นด้วยการสำรวจพฤติกรรมว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ส่วนไหนที่ใช้กับของไม่จำเป็น ส่วนไหนที่จ่ายหนี้ดอกเบี้ยสูง ส่วนไหนที่ใช้กับของจำเป็น
ขั้นตอนนี้ช่วยให้เห็นรอยรั่วของพฤติกรรมการใช้จ่าย สามารถนำไปประเมินเพื่อลดการใช้จ่ายกับสิ่งไม่จำเป็น และควรลดการใช้จ่ายทั้งหมดให้ไม่เกิน 50% ของรายได้ เพื่อให้มีเงินเหลือเอาไว้สร้างอิสรภาพทางการเงินในขั้นตอนอื่น
เงินที่ได้หลังหักรายจ่ายต่อเดือนและที่เพิ่มได้จากขั้นตอนแรกควรนำเก็บออก ซึ่งเงินออมแรกที่ทุกคนควรมี คือ เงินสำรองฉุกเฉิน เพราะเรื่องฉุกเฉินพร้อมจะเกิดได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน สุขภาพ ครอบครัว
เงินในส่วนนี้ควรมีเท่ากับ 3-6 เท่าของเงินเดือน หรืออย่างน้อยก็ควรเท่ากับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน เพื่อที่หากเกิดเรื่องฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องกลายเป็นลูกหนี้
หนี้ในระดับที่เกินจำเป็นเป็นสิ่งที่กีดกันการใช้ชีวิต บั่นทอนกระแสเงินสดในแต่ละเดือนที่สามารถนำไปใช้สร้างอิสรภาพทางการเงิน ดังนั้นต้องพยายามจ่ายหนี้ให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะจากการบริโภคเกินตัว ซึ่งมักมีดอกเบี้ยสูง
หากมีภาระดอกเบี้ยมากเกินไปควรเจรจากับเจ้าหนี้ซึ่งมีหลายวิธีที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ เช่น ขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ไม่ผิดนัด, ขอขยายเวลาการชำระหนี้, ขอเปลี่ยนประเภทหนี้, ขอพักชำระเงินต้น
เมื่อมีเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว จัดการกับภาระหนี้ไปแล้ว เงินส่วนที่เหลืออย่างน้อย 10% ควรนำไปทำให้งอกเงยซึ่งก็ผ่านการลงทุนนั่นเอง เพราะเงินเฟ้อจะลดอำนาจการใช้จ่ายของเงินที่ออมได้ในแต่ละเดือน
แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ควรลงทุนตามความรู้ที่มีและความเสี่ยงที่รับได้ เช่น หุ้นกู้ กองทุนรวม หุ้น และหากมีเวลาก็ควรศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยให้มีทางเลือกในการสร้างอิสรภาพทางการเงินมากขึ้น
เป็นขั้นตอนที่หลายคนอาจมองข้าม แต่บางครั้งอาจมีเหตุการณ์เร่งด่วนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าเงินสำรองฉุกเฉินโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยนับว่าสูงมาก
ดังนั้นควรมีประกันสุขภาพหรืออุบัติเหตุเพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่ควรวางแผนการซื้อประกันให้ครอบคลุมการรักษาและต้องเหมาะสมกับค่าเบี้ยประกัน โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ควรอยู่ที่ 5-10% ของรายได้
ไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็ตามความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน การมีรายได้หลายทางช่วยลดความเสี่ยงนี้และยังเพิ่มรายได้ในช่วงเวลาปกติอีกด้วย โดยอาจเริ่มจากงานอดิเรก หรือการหาช่องทางรายได้ทางสื่อออนไลน์ แต่หากยังหาช่องทางรายได้เพิ่มไม่ได้ก็อาจกลับมาเริ่มต้นลงทุนด้านความรู้กับตัวเองก่อน ไม่แน่ว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพเสริมก็ได้
ขั้นตอนเหล่านี้ไม่ยากเลยสำหรับการมีอิสรภาพทางการเงิน แต่สิ่งที่ยาก คือ ความอดทน และที่ยากกว่านั้น คือ จะเริ่มทำขั้นตอนเหล่านี้เมื่อไหร่? เพราะเกือบทุกสิ่งที่อยู่ในโลกการเงินแทบจะมีคำตอบแล้ว แต่จุดเริ่มต้นไม่สามารถหาคำตอบได้จากที่ใด
และโปรดจำไว้ว่า ยิ่งเราเริ่มลงทุนไวเท่าไหร่ เงินสะสมเราก็จะยิ่งเพิ่มพูนจากดอกเบี้ยทบต้นที่มากขึ้น สร้างโอกาสให้เราได้เข้าใกล้เป้าหมายการเป็นอิสระได้เร็วขึ้น
ดังนั้นพี่ทุยอยากบอกว่าควรเริ่มนับตั้งแต่วันนี้เพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินไวที่สุด อย่างน้อยเริ่มช้าแต่เริ่มนะก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย
ส่วนใครอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วมีไฟที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติการเงินของตัวเอง พี่ทุยก็ขอแนะนำว่าควรศึกษาการวางแผนการเงินที่ถูกต้องก่อน การผลีผลามรีบทำอะไรโดยไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ อาจจะทำเราล้มละลายมากกว่าร่ำรวย
สุดท้ายนี้พี่ทุยอยากเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังไล่ตามความฝันนี้อยู่ อิสรภาพทางการเงินในแบบของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราอาจไม่จำเป็นต้องกินหรูอยู่แพงในทุกวัน อาจไม่ต้องไปท่องเที่ยวต่างประเทศทุกเดือน ขอเพียงแค่เรารู้จักตนเอง รู้จักความพอดี และมีความรู้ความเข้าใจของการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้ดี แล้วทำในสิ่งที่เรารัก เพียงแค่นี้เราก็เจออิสรภาพทางความสุขในแบบของตนเองได้แล้วล่ะ
ข้อมูลจาก : moneybuffalo