เงินเดือน ก็เหมือนเงินทอน ประโยคนี้อาจจะเป็นเรื่องจริงของใครหลายคน ที่เจอภาวะได้เงินเดือนมาปุ๊บ ก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต สารพัดหนี้ แว๊บเดียวก็เหลือแค่เงินทอนให้ใช้ และด้วยสถานการณ์แบบนี้ใคร ๆ ก็อยากภาวนาให้ปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป ได้ขึ้นเงินเดือนกันทั้งนั้น วันนี้พี่ทุยก็เลยอยากชวนทุกคนมาซูมดูกันหน่อยว่าปี 2022 การขึ้นเงินเดือนทั่วโลกเป็นยังไงบ้าง แล้ว เงินเดือนขั้นต่ำ ปี 2023 ล่ะ มีอนาคตดี ๆ รออยู่บ้างมั้ย
ECA International ผู้ให้บริการด้านข้อมูล ซอฟต์แวร์ และเชี่ยวชาญด้านการจัดการและการมอบหมายงานพนักงานทั่วโลก เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับรายงานแนวโน้มเงินเดือน หรือ Salary Trends Report ที่จัดทำขึ้นมา โดยสำรวจจากประเทศและเมืองรวม 68 แห่งทั่วโลก
ชี้ให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของเงินเดือนที่แท้จริงปี 2022 และ ปี 2023 ซึ่งมาจาก “การเติบโตของค่าจ้าง – เงินเฟ้อ” ผลปรากฎว่า ปี 2022 ทุกภูมิภาค มีอัตราการเติบโตของเงินเดือนที่แท้จริงติดลบ ยกเว้นเอเชียแปซิฟิก ยังบวกเล็กน้อย 0.3% (ที่มา : ECA International)
เมื่อลองโฟกัสที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างเดียวที่อัตราเงินเดือนที่แท้จริงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
หลายคน พอเห็นไทยติดอันดับ 10 ประเทศเอเชียแปซิฟิกที่แนวโน้มเงินเดือนที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 ก็ใจชื้นขึ้นมาหน่อย คิดว่า หนึ่งในนั้นต้องเป็นตัวเองบ้างแหละ
แต่เอาจริง ๆ แล้ว พี่ทุยก็อยากบอกว่า เวลาปรับขึ้นเงินเดือน แต่ละอาชีพ แต่ละหน้าที่ก็ได้รับการอวยยศไม่เท่ากัน เพราะนอกจากจะใช้เรื่องเงินเฟ้อ และการเติบโตเศรษฐกิจมาคำนวณการปรับขึ้นเงินเดือนแล้ว ความหายากหาง่ายของทักษะในอาชีพนั้นก็มีส่วนเช่นกัน
ถ้าจัดอยู่ในกลุ่มทักษะเป็นที่ต้องการสูง แต่คนขาดแคลน เงินเดือนก็มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นมากกว่าชาวบ้าน หรือผลงานที่ทำไว้ ก็เกี่ยวเช่นกัน ถ้าเป็นคนที่ทำผลงานได้ดีในองค์กร ปีต่อไป โอกาสปรับขึ้นเงินเดือนก็อาจจะสูงกว่าคนที่ทำผลงานได้ในระดับทั่ว ๆ ไป
พี่ทุยไปเจอข้อมูลจาก Adecco ผู้ให้บริการจัดหาคนทำงาน ที่วิเคราะห์เทรนด์ผู้สมัครและตลาดแรงงานล่าสุด ไตรมาส 3/2022 เอาไว้น่าสนใจดีว่า โลกเราจะยังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานต่อไปจนถึงปี 2024
หลายองค์กรยังต้องเจอปัญหาตำแหน่งงานเปิดว่างนานแล้ว แต่ก็หาแรงงานที่มีทักษะและคุณสมบัติตรงความต้องการมาเติมไม่ได้เสียที ส่วนหนึ่งก็มาจากการระบาดของโควิด ทักษะของผู้สมัครไม่สัมพันธ์กับความต้องการในตลาด ปัญหาระบบการศึกษา และความต้องการของผู้สมัครที่เปลี่ยนไป
**ดังนั้นจากนี้ไปจนถึงปี 2024 องค์กรทั่วโลกก็จะเจอโจทย์สำคัญคือ ภาวะการแข่งขันสูงในการสรรหาและรักษาคนเก่งเอาไว้ **
พอมาดูให้ใกล้ตัวขึ้น แค่ในเอเชียแปซิฟิก ก็พบว่า เราโชคดีที่ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบน้อยกว่าทวีปอื่น เพราะการเติบโตของตลาดแรงงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมากนัก และด้วยภูมิศาสตร์อยู่ไกลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็เลยได้รับผลกระทบในประเด็นนี้น้อยกว่าทวีปอื่น ๆ ดังนั้นตลาดแรงงานปี 2022 นี้ ก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ตลาดก็จะเผชิญกับภาวะค่าแรงสูงขึ้น เป็นผลมาจากปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก
คราวนี้ ดูเฉพาะที่ไทย ก็พบว่า ถึงตลาดแรงงานไทยจะฟื้นตัวแล้ว แต่ก็อยู่ในภาวะการแข่งขันสูงในการช่วงชิงผู้ที่มีความสามารถ หรือที่เรียกกันว่า Talent โดยสายงานเทคฯ และดิจิทัล เป็นสายงานที่ความต้องการสูงและผู้สมัครเปลี่ยนงานบ่อย ส่วนสายงานอื่นที่มีความต้องการอยู่ตลอด เช่น วิศวกร พนักงานขาย และฝ่ายทรัพยากรบุคคล
ถ้ามองในระดับอุตสาหกรรมที่มาแรง ทำให้ความต้องการแรงงานทักษะเฉพาะทางเพิ่มขึ้น ก็ต้องยกให้ อุตสาหกรรมพลังงาน ในกลุ่มพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ (AI) และธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกลุ่มนี้ต้องการผู้สมัครที่มีทักษะเฉพาะด้านและประสบการณ์ตรงในธุรกิจเหล่านี้
แต่ถึงแม้จะมีมุมความต้องการแรงงานที่ร้อนแรง ก็มีอีกด้านที่น่าเศร้า เพราะมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เลยหลังโควิดซาไป ทำให้บางอุตสาหกรรมเริ่มเลิกจ้างคนจากผลกระทบเศรษฐกิจแล้ว เช่น บริษัทกลุ่มคริปโทเคอร์เรนซี ที่ลดพนักงานและการจ้างงาน ชะลอการจ้างงานจากปัญหาราคาบิตคอยน์ดิ่งหนักในช่วงที่ผ่านมา และบริษัทสื่อที่ขาดทุนเพราะการแข่งขันสูง
Adecco ยังเผยว่า เทรนด์ที่องค์กรใช้ดึงดูดพนักงานเข้าใหม่ร่วมงาน รวมถึงรักษาพนักงานไว้กับองค์กร ยังเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์และการเติบโตในอาชีพ ขณะที่การทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ work from anywhere ยังเป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่พนักงานมองหา เพราะนอกจากทำให้การใช้ชีวิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็ยังช่วยลดค่าเดินทางได้ด้วย โดยเฉพาะช่วงราคาน้ำมันสูงขึ้น
โดยรวมแล้วสวัสดิการที่เป็นตัวเงินยังเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การสนับสนุนค่าเดินทางให้พนักงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และการมอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้พนักงาน ด้วยการสนับสนุนค่าอุปกรณ์ตรวจโควิดและค่าตรวจเชื้อโควิด เป็นต้น
ส่วนการทำให้พนักงานเห็นโอกาสเติบโตในหน้าที่ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาทักษะตามเป้าหมายทางอาชีพ โดยที่เนื้องานก็ต้องเอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะที่มุ่งหมาย และมีเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจนให้เห็นในโครงสร้างองค์กร ว่าอนาคตจะมีโอกาสก้าวหน้าได้ยังไงบ้าง
ถ้าโครงสร้างองค์กรไม่เอื้ออำนวย ก็ควรปรับผลตอบแทนที่เหมาะสม ทดแทนการเลื่อนตำแหน่ง โดยพิจารณาจากผลงาน ความสามารถ มากกว่าเรื่องอายุงานและการปรับเงินเดือนตามโครงสร้างเดิมที่เคยใช้มา
ด้าน salaryexplorer รายงานว่า คนทำงานในไทย ได้เงินเดือนเฉลี่ยตั้งแต่ 24,500 – 433,000 บาทต่อเดือน โดยเงินเดือนเฉลี่ยนี้ รวมถึงผลประโยชน์อื่น ๆ ที่บริษัทมอบให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย การเดินทาง หรือประโยชน์อื่น ๆ
เมื่อเทียบอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนหลังมีประสบการณ์ทำงานเพิ่มขึ้น จะพบว่า เมื่อทำงานมากกว่า 2 ปี จะได้เงินเดือน +32% และถ้าทำงาน 10 ปีขึ้นไปแล้ว จึงจะมีรายได้ที่สูงกว่าเมื่อวันเริ่มเข้าทำงานเท่าตัว โดยค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในช่วงที่มีประสบการณ์ทำงาน 5-10 ปี +36% รองลงมาคือ 2-5 ปี +32%
ถ้าดูในมุมการศึกษาว่ามีผลกับเงินเดือนยังไง ก็จะพบว่า ถ้าเป็นคนที่มีประสบการณ์เท่า ๆ กัน แต่ระดับการศึกษาต่างกัน ทำงานเดียวกัน คนที่จบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตร หรืออนุปริญญา จะได้เงินมากกว่าคนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย 17%
ถ้าจบปริญญาตรี ก็จะได้มากกว่า จบประกาศนียบัตร หรืออนุปริญญา 24% จบปริญญาโท ได้มากกว่า ปริญญาตรี 29% และจบปริญญาเอก ได้มากกว่าปริญญาโท 23%
ดูในมุมเพศ ก็พบว่า อัตราค่าจ้างเฉลี่ยของทุกสายงานรวมกัน ถ้าเป็นผู้ชายจะอยู่ที่ 103,000 บาทต่อเดือน +11% เมื่อเทียบกับผู้หญิงจะอยู่ที่ 92,300 บาทต่อเดือน
ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนของไทย ค่าเฉลี่ยจะปรับขึ้น 8% ในทุก 17 เดือน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลก ที่จะปรับขึ้น 3% ทุก 16 เดือน โดยปี 2021 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดคือ สถาบันการเงิน +8% พลังงาน +7% ไอที +6% สุขภาพ +5% ท่องเที่ยว +4% ก่อสร้าง +3% และการศึกษา +2%
โดยรวมแล้ว มนุษย์เงินเดือนก็สบายใจกันได้ว่าถ้าอยู่ถูกที่ ถูกทาง อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังโต เงินเดือนในปี 2023 ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินเฟ้ออยู่แน่นอน และโอกาสที่จะได้เงินเดือนเพิ่มสูงกว่าชาวบ้านก็จะมากขึ้นอีก เมื่ออยู่ในกลุ่มทักษะที่องค์กรต้องการ หรือถ้ายังไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนี้ หากมีโอกาสก็ลองไปฝึกฝนเพิ่มทักษะที่ตลาดต้องการดู
ส่วนใครที่ยังเรียนอยู่และคิดว่าอนาคตคงจะต้องก้าวเข้ามาเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง ก็อาจจะต้องหาทางเลือกเรียนทักษะหรือสาขาที่คาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการสูง แทนที่จะเลือกเรียนตามเพื่อน หรือคิดไม่ออกว่าจะเรียนอะไร เรียนอันนี้แล้วกัน เพราะต้องยอมรับว่า การเลือกเรียน มีผลกับอนาคตของเราจริง ๆ
ข้อมูลจาก : moneybuffalo