ปี 2022 เป็นปีที่เราได้ยินข่าวประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันกันบ่อยครั้ง เรียกว่า บางสัปดาห์ขึ้นราคากันแบบวันเว้นวัน แถมรถคันเดิมจากที่ 1,000 บาทเคยเติมน้ำมันได้เต็มถัง มาวันนี้ 1,500 บาท 1 ถังยังไม่เต็ม วันนี้พี่ทุยเลยอยากชวนทุกคนมาลุ้นกันว่า ปี 2023 แนวโน้มราคาน้ำมัน จะแพงขึ้นหรือถูกลง ?
ข่าวดีที่พี่ทุยอยากบอกทุกคนไว้เนิ่น ๆ ก็คือ พอไปดูบทวิเคราะห์ของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจหลัก ๆ ทั่วโลก คาดการณ์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในปี 2023 นี้ จะปรับลดลงมา โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงนั่นเอง
แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า แต่ละสถาบันมองลึกลงไปข้างในเทรนด์ราคาน้ำมันโลกแล้วเห็นอะไรบ้าง พี่ทุยขอนำมุมมองของสถาบันที่น่าสนใจมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังนี้
ตัวอย่างสำนักที่เชื่อว่าราคาน้ำมันในปี 2023 จะลดลง ก็คือ ธนาคารโลก หรือ World Bank ที่คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะปรับลดลงในช่วงปี 2023-2024
ด้าน สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ก็ประเมินว่า ปี 2023 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ น่าจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 95.33 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ซึ่งเป็นน้ำมันที่มาจากบ่อน้ำมันในแถบอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก น่าจะมีราคาเฉลี่ย 89.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
เมื่อดูเรื่องความต้องการใช้และการผลิต ก็คาดว่า การผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นของทั้งสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) และนอกกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปี 2023 ต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2022
ในด้านความต้องการใช้น้ำมัน ก็คาดว่าจะเติบโตได้แต่ก็จำกัด จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งก็คงจะมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงมา แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องไปรอลุ้นเรื่องข้อจำกัดของฝั่งการผลิตด้วย โดยต้องลุ้นเรื่องที่สหภาพยุโรป (EU) ห้ามนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางทะเลจากรัสเซีย ว่าจะเป็นยังไงต่อไป
โดยรวมแล้วมองว่า ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2023 จะมีมากกว่า น้ำมันที่ผลิตได้ ดังนั้นประเด็นนี้ก็จะทำให้เราอาจจะเห็นราคาน้ำมันอาจจะมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ช่วงครึ่งหลังของปี
HE Haitham Al Ghais เลขาธิการ กลุ่ม OPEC ผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก สรุปมุมมองระยะยาวที่มีผลต่อราคาน้ำมันไว้ ซึ่งพี่ทุยขอยกมา 10 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
มองไปปลายทางปี 2045 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเป็นเท่าตัวเทียบกับปี 2022 ส่วนจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 1,600 ล้านคน
ความต้องการใช้พลังงานเบื้องต้นของโลกจะยังเติบโตต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาว คาดว่าจะ +23% จากนี้ถึงปี 2045
โลกต้องการการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นปีละ 2.7 ล้านบาร์เรล/วัน นับจากนี้ถึงปี 2045
น้ำมันยังเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุด โดยคาดว่าจะมีส่วนแบ่ง 29% ในปี 2045
ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก คาดว่าจะเพิ่มจาก 97 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2021 เป็น 110 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2045
ประเทศนอกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เป็นกลุ่มสำคัญที่ขับเคลื่อนความต้องการใช้น้ำมัน โดยมีความต้องการเพิ่มเป็นเกือบ 24 ล้านบาร์เรล/วัน จากนี้ไปจนถึงปี 2045 ส่วนประเทศในกลุ่ม OECD มีความต้องการใช้ลดลงมากกว่า 10 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงปี 2021-2045
อินเดียเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มประมาณ 6.3 ล้านบาร์เรล/วัน จากนี้ถึงปี 2045
ความต้องการใช้น้ำมันในกลุ่มการบินเติบโต 4.1 ล้านบาร์เรล/วัน นับจากปี 2021-2045
ประเทศนอกกลุ่ม OPEC น่าจะผลิตน้ำมันป้อนตลาดเพิ่มเป็น 71.4 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในปี 2027 จากนั้นจะลดการผลิตลงเหลือ 67.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2045
เอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดสำคัญที่นำเข้าน้ำมันดิบในช่วงจากนี้ถึงปี 2045 โดยยอดนำเข้าเติบโตมากกว่า 7.5 ล้านบาร์เรล/วัน
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงเห็นแล้วว่า ทิศทางราคาน้ำมันโลกปี 2023 ก็คงจะลดลงมาจากปี 2022 ถ้าไม่มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายอะไรเกิดขึ้นไปทำให้ราคาเด้งขึ้นไปอีก แต่คำถามก็คือ ราคาโลกลด ราคาน้ำมันในไทยจะลดด้วยมั้ย
พี่ทุยก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ราคาต่างประเทศลดปุ๊บ ราคาหน้าปั๊มน้ำมันในไทยจะลดลงทันที เพราะน้ำมันดิบไม่ได้ซื้อแล้วใช้ได้เลย ก็ต้องถูกนำมากลั่นก่อน ซึ่งก็มีต้นทุนการกลั่น มีค่าขนส่ง ซึ่งไทยนำเข้าน้ำมันบางส่วนจากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถผลิตใช้เองได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ก็จะมีต้นทุนภาษีต่าง ๆ ที่ต้องจ่าย เช่น ภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจากปริมาณน้ำมันที่ส่งออกมาจากโรงกลั่นหรือคลังน้ำมัน ภาษีเทศบาล ที่ถูกเรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คิดจากราคาน้ำมันที่ขายหน้าปั๊ม
แถมต้องมีเงินส่งเข้าไปสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อใช้สนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่รัฐบาลตั้งมาสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานด้วย นอกจากนี้ก็มีค่าการตลาด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำตลาด บริหารจัดการ ค่าจิปาถะที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานของปั๊มน้ำมัน
และค่าใช้จ่ายเหล่านี้นี่เอง ที่ไม่ได้ลดไปพร้อม ๆ กับราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น พอเห็นราคาน้ำมันโลกลงมา น้ำมันไทยก็อาจจะไม่ได้ลดลงเร็ว ๆ นั้นตามไปด้วยทันที แต่ต้องใช้เวลาปรับลดลงตามหลังลงมา
แต่นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับอีกปัจจัยสำคัญด้วยที่จะทำให้ราคาลดลงมาได้มั้ย หรืออาจจะเพิ่มสวนกระแสโลกไปเลย นั่นก็คือเรื่อง ค่าเงิน เพราะเมื่อไหร่ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า เวลาที่นำเข้าน้ำมันมา ถ้าไม่ได้บริหารความเสี่ยงค่าเงินเอาไว้ ถึงราคาน้ำมันจะถูกลง แต่ก็อาจจะต้องจ่ายเงินค่านำเข้าแพงขึ้น ถ้าเปอร์เซ็นต์ของค่าเงินที่อ่อนค่า มีมากกว่า เปอร์เซ็นต์ของราคาน้ำมันที่ลดลง
ฉะนั้น พี่ทุยสรุปง่าย ๆ ว่า พอจะมีความหวังดีใจกันได้ว่า ปีหน้าอาจจะได้เติมน้ำมันราคาถูกลง แต่ว่า จะถูกลงมากน้อยแค่ไหน ไปลุ้นค่าเงินบาท กับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันกันด้วยอีกที
ถ้าพูดถึงการลงทุนน้ำมัน พี่ทุยก็มองว่า หลัก ๆ มี 3 แบบ คือ
1. ลงทุนผ่านกองทุนน้ำมัน ที่จะไปลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเลย ก็ดูจะเป็นวิธีที่ตรงที่สุดของการลงทุนในน้ำมัน
2. ลงทุนในหุ้นน้ำมัน ซึ่งก็จะมี 2 แบบย่อย คือ ลงทุนแบบเชิงรุกหรือเชิงรับ คือ
และ 2) ลงทุนผ่านดัชนีหุ้นพลังงานไปเลย เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการลงทุนเชิงรับที่คาดหวังผลตอบแทนแค่ล้อไปกับดัชนี ไม่ต้องปวดหัว กับการคัดเลือกเป็นตัว ๆ แต่ลงแบบเหมารวมไปเลยผ่านดัชนี ซึ่งก็เหมือนการได้ลงทุนในหุ้นพลังงานทุกตัวที่คำนวณในดัชนี
3. ลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งก็จะมี 2 แบบเช่นกัน คือ
ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นพลังงาน ซึ่งมีทั้งที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นพลังงานในประเทศอย่างเดียว กับกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นพลังงานต่างประเทศ โดยกองทุนจะไปคัดเลือกหุ้นรายตัวในกลุ่มพลังงานเข้ามา เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี และอีกแบบคือ
ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีหุ้นพลังงาน ที่เป็นการลงทุนเชิงรับ เพราะกองทุนนั้นก็จะไปลงทุนในหุ้นที่อยู่ในดัชนีหุ้นพลังงาน และคาดหวังผลตอบแทนล้อกับดัชนี
ทั้งนี้ โดยปกติ เวลาที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นมา จะเป็นผลดีกับหุ้นบริษัทน้ำมัน เพราะว่า หุ้นเหล่านี้ก็จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นตามราคาที่เพิ่มขึ้นไป แต่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยปกติแล้วความต้องการใช้น้ำมันก็จะลดลง ซึ่งเวลาที่ราคาน้ำมันปรับลดลงมา หุ้นบริษัทน้ำมันก็อาจจะไม่ได้มีผลการดำเนินงานที่ดีมากเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาน้ำมันลดลงแล้วลงทุนหุ้นบริษัทน้ำมันไม่ได้ เพราะว่าในที่สุดแล้ว หุ้นบริษัทน้ำมันก็ยังถูกมองว่าเป็นหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนเติบโตได้ดีในระยะยาวอยู่ดี ถ้าเรามองว่า ช่วงราคาน้ำมันถูก ราคาหุ้นบริษัทน้ำมันปรับลงมา เป็นโอกาส เราก็จะได้ซื้อหุ้นในช่วงที่ถูก เพื่อรอคอยวันที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น และผลการดำเนินงานบริษัทน้ำมันออกมาดีอีกครั้ง
ข้อมูลจาก : moneybuffalo