ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี – คนไทยเสียภาษี ตั้งแต่เกิด ?

Posted by nor-arfah on January 14, 2023

จริง ๆ แล้ว เรื่อง คนไทยเสียภาษี เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ว่าใครบ้างที่ต้องเสียภาษี พี่ทุยอยากจะบอกว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก พระ คนชรา ไม่ว่าจะเป็นคนมีรายได้ หรือ ไม่มีรายได้

และวันนี้พี่ทุยอยากจะมาเล่าเรื่องภาษีให้ทุกคนได้เห็นภาพกันว่า ชีวิตประจำวันเราใกล้ชิดกับการเสียภาษี ราวกับว่าเป็นเพื่อนสนิทกัน

คนไทยเสียภาษี ในชีวิตประจำวัน

ถ้าจะยกภาพให้เห็นกันชัด พี่ทุยของยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งขอเงินพ่อแม่ไปซื้อขนม ที่ร้านสะดวกซื้อ หรือ ห้างใกล้บ้าน ในใบเสร็จรับเงิน เราจะพบว่ามีช่องที่เขียนว่า VAT หรือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่รวมไว้ในราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว

ภาษีมูลค่าเพิ่ม แท้จริงแล้ว ก็คือ ภาษีทางตรงที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้บริโภค และเป็นภาษีที่รัฐเก็บได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับชนิดอื่น ๆ อีกด้วย ทำให้เด็กน้อยคนนั้นก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี

หรือแม้แต่เด็กวัยรุ่นไปเติมน้ำมันรถยนตร์ หรือ มอเตอร์ไซต์ ก็ต้องเจอทั้ง VAT และปั้มน้ำมันก็ต้องเสีย “ภาษีสรรพสามิต” หรือที่เรียกว่า ภาษีทางอ้อม

หรือจะเป็นคนที่ทำงานแล้ว เช่น พ่อแม่เรา ก็ต้องเสีย “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ในทุกบาททุกสตางค์ที่ได้เป็นรายได้มานั่นเอง

และภาษีเงินได้ได้บุคคลธรรมดา ก็เป็นเพียงภาษีชนิดหนึ่ง ที่รัฐเรียกเก็บ และยังมีอีกหลายชนิด เห็นแบบนี้แล้วไปดูกันดีกว่าว่า ภาษีอื่น ๆ ที่ต้องเสียมีอะไรบ้าง

ภาษี คืออะไร

ภาษี คือ เงินที่รัฐเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ กิจการต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา และการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การสร้างถนน เงินสนับสนุนโครงการรัฐ และใช้เป็นงบประมาณ จัดสรรให้กับกระทรวงต่างๆ เป็นต้น

ประเภทของภาษี

1. ภาษีทางตรง

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้

ประเภทของภาษีทางตรง

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป ที่มีรายได้จากการทำงาน ผลตอบแทนจากการลงทุน เงินเดือน ค่าจ้าง การขายสินค้าและบริการ เป็นต้น โดยเก็บเป็นรายปี ผู้เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภายในวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป

  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้ของนิติบุคคล ได้แก่ เงินได้ประเภทกำไรสุทธิ ยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย เงินได้หรือกำไรที่จ่ายจากในไทย

  3. ภาษีป้าย เป็นภาษีที่จัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือ เครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า ด้วยตัวอักษร ภาพ หรือ เครื่องหมาย

  4. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการครอบครอง เป็นภาษีที่จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เก็บเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน

  5. ภาษีมรดก เก็บจากผู้รับมรดกหรือทายาท เมื่อได้รับการโอนทรัพย์สิน

  6. ภาษีทรัพย์สินต่างๆ เก็บจากผู้ครอบครองทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษี เช่น ภาษีรถยนต์

2.ภาษีทางอ้อม

ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากผู้บริโภค เป็นภาษีที่เป็นการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้รับชำระภาษีอากรแทนผู้ขาย

ประเภทของภาษีทางอ้อม

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าส่วนที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าหรือบริการ โดยเรียกเก็บจากผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือได้รับบริการเป็นคนสุดท้าย โดยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7%

  2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแยกต่างหากจากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันชีวิต กิจการรับจำนำ การขายอสังหาริมทรัพย์ การขายหลักทรัพย์ ธุรกิจโรงงาน

  3. ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือย หรือเป็นสินค้าที่บริโภคแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภครับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น น้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ น้ำหอม สุรา ยาสูบ โรงภาพยนตร์ การออกสลากกินแบ่ง กิจการโทรคมนาคม เป็นต้น

  4. ภาษีศุลกากร หรือ ภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยวิธีคำนวนภาษีศุลกากร = อากรนำเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย

  5. อากรแสตมป์ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร ใน 28 ลักษณะตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยมีการจัดพิมพ์อากรแสตมป์ในลักษณะเดียวกันกับตราไปรษณียากร แต่ต่างกันตรงที่อากรแสตมป์ไม่มีตราประทับ

10 อันดับภาษี ที่ไทยจัดเก็บได้มากที่สุด ปีงบประมาณ 2565

จากสถิติแล้ว ไทยในปีงบประมาณ 2565 รายได้ภาษีทางตรงและทางอ้อมส่วนใหญ่มาจาก

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.5 แสนล้านบาท
  2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1.8 แสนล้านบาท
  3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.7 แสนล้านบาท
  4. ภาษียาสูบ 1 แสนล้านบาท
  5. ภาษีเครื่องดื่ม 4.9 หมื่นล้านบาท
  6. ภาษีรถยนต์ 4.3 หมื่นล้านบาท
  7. ภาษีเบียร์ 3.1 หมื่นล้านบาท
  8. ภาษีสุรา 3 หมื่นล้านบาท
  9. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 2.8 หมื่นล้านบาท
  10. ภาษีรถจักรยานยนต์ 1.1 หมื่นล้านบาท

ตัวอย่างที่ คนไทยเสียภาษี มีอะไรบ้าง ?

แล้วภาษีที่พูดมาทั้งหมด คนอย่างเรา ๆ ต้องเสียภาษีชนิดใดบ่อย ๆ บ้าง

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีที่เราต้องเจอและจ่ายอย่างแน่นอนเมื่อเราไปซื้อสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน

  2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นภาษีที่บุคคลที่มีรายได้ เช่น รายได้จากการจ้างงาน ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เป็นต้น ต้องยื่นเพื่อเสียภาษีให้กับรัฐบาลทุกต้นปีนั่นเอง

  3. ภาษีสรรพสามิต ภาษีเหล่านี้จะรวมอยู่ในราคาสินค้าที่เราต้องจ่ายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นคนละส่วนกับภาษี VAT ที่สามารถดูได้ในใบเสร็จ อย่างไรก็ตาม ภาษีสรรพสามิตจะเจอได้ในสินค้าประเภท เครื่องดื่ม สุรา เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำหอม เป็นต้น

  4. ภาษีอื่น ๆ ที่ต้องเจอ เช่น ภาษีนำเข้า ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราสั่งของออนไลน์ของเว็บต่างประเทศ และนำเข้ามายังไทย หรือ ภาษีรถยนต์-รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นภาษีเก็บเมื่อเรามีทรัพย์สินเหล่านี้ในมือ

เห็นแต่ละประเภทแล้วเป็นภาษีที่เก็บจากสินค้าใกล้ตัวเราไม่น้อยเลยทีเดียว นี่แหละคือที่มาของประโยคที่ว่า คนไทยทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี ไม่ใช่แค่คนที่มีรายได้ หรือ คนที่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น เพราะ นั่นเป็นแค่ประเภทเดียวของภาษีที่จัดเก็บในไทย ซึ่งอย่างน้อย ๆ ภาษีที่เราคุ้นเคย และต้องเสียทุกวันก็คือ VAT หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง

ข้อมูลจาก : moneybuffalo