ช่วงนี้จะเดินไปไหนในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ ในไทย ก็ได้ยินเสียงคนจีนสปีคไชนีสกันเต็มไปหมด หันไปทางไหนก็เจอแต่คนจีน ที่น่าสนใจคือ คนจีนมาไทยเยอะขนาดนี้ ก็ไม่ได้มีแค่มาเที่ยวไม่กี่วันแล้วกลับ แต่มีบางส่วนมาตั้งรกราก ทำธุรกิจในเมืองไทยด้วย วันนี้พี่ทุยก็เลยจะชวนติดตามข้อมูลของ นายทุนจีน กันว่า มาลงทุน มาอยู่อาศัยในไทยกันเยอะมั้ย
เริ่มกันที่เรื่องการลงทุนก่อน พี่ทุยไปดูสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มา พบว่า
ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2022) มีนักลงทุนต่างชาติมายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 643 โครงการ +15% จากช่วงเดียวกันของปี 2021 มีเม็ดเงินลงทุนรวม 275,651 ล้านบาท -25%
โดยจีนเป็นแหล่งที่มาเงินทุนจากต่างประเทศอันดับแรกที่ขอรับส่งเสริมมากที่สุด รวม 89 โครงการ 45,024 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ตามมาด้วยไต้หวัน และญี่ปุ่น
ปี 2020 : 153 โครงการ มูลค่าลงทุน 30,780 ล้านบาท อันดับที่ 2 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
ปี 2021 : 109 โครงการ มูลค่าลงทุน 37,217 ล้านบาท อันดับที่ 2 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
ส่วนปี 2022 (ม.ค.-ก.ย.) : 89 โครงการ มูลค่าลงทุน 45,024 ล้านบาท อันดับที่ 1 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
ส่วนสถิติโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ม.ค.-ก.ย. 2022 มี 594 โครงการ +6% จากช่วงเดียวกันของปี 2021 มูลค่าเงินลงทุน 223,746 ล้านบาท +35%
โดยจีนเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมลงทุนอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและไต้หวัน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 33,828 ล้านบาท หรือ 15% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด
เงินส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตแผงวงจรพิมพ์แบบยืดหยุ่น และแผงวงจรพิมพ์หลายชั้น รวม 3 โครงการ มูลค่า 4,366 ล้านบาท กับกิจการผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ มูลค่า 3,864 ล้านบาท เป็นต้น
พี่ทุยมองว่า เรื่องการขอส่งเสริมการลงทุนนั้นก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เรายังเห็นคนจีนมาอยู่อาศัยในไทยเยอะขึ้นด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขการรับโอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของห้องชุดของชาวต่างชาติ ที่พี่จีน ก็มาวินอีกเช่นกัน
รายงานล่าสุดของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สถิติการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติในไตรมาส 2 ปี 2022 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ 2,326 หน่วย +15.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2021 สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส มูลค่ารวม 12,114 ล้านบาท +26.9%
โดยคนจีนครองอันดับ 1 ต่างชาติที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากสุด 2,072 หน่วย มูลค่าการโอน 10,493 ล้านบาท คิดเป็น 86.6% ของมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติทั้งหมด
โดยภาพรวมแล้ว จังหวัดที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติสะสมมากที่สุดา 5 อันดับ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และเชียงใหม่
ซึ่งปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมาก คือ การเปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ส่วนการท่องเที่ยวก็ทยอยฟื้นตัวกลับมา แต่สำหรับคนจีนที่อยากจะมาเที่ยวหรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากหน่อย เพราะจีนก็ยังใช้นโยบาย Zero-Covid อยู่
นี่ขนาดไทยไม่ได้เปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดินในไทยได้ คนจีนรวมถึงชาติอื่นๆ ยังมารับโอนห้องชุดเยอะขนาดนี้ พี่ทุยอยากให้ลองนึกภาพตามว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งเปิดให้ต่างชาติถือครองที่ดินในไทยได้ จะเกิดอะไรขึ้น
ซึ่งพี่ทุยมองว่า ถ้าเปิดแบบไม่มีลิมิต ในอนาคตก็อาจจะเจอปัญหาคนไทยซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้ เพราะต่างชาติกว้านซื้อไปหมด ฉะนั้น สมมติในอนาคตมีการหยิบประเด็นให้ต่างชาติถือครองที่ดินในไทยได้มาพูดถึงอีก ก็คงต้องพูดถึงมาตรการป้องกันการซื้อเก็งกำไร กับมาตรการที่จะทำให้คนไทยยังหาที่อยู่อาศัยได้ในผืนแผ่นดินของตัวเองด้วย
รัฐบาลควรกำหนดชัดเจนว่าอนุญาตให้ต่างชาติซื้อบ้านและที่ดินเพื่ออยู่อาศัยระยะยาวในไทยได้ช่วงเวลากี่ปี
อาจเป็นนโยบายเปิดชั่วคราว ไม่ใช่ตลอดไป
กำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้ซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาเท่าไหร่ จะได้ไม่มาซื้อระดับราคาที่ตรงกับกำลังซื้อคนไทยส่วนใหญ่
กำหนดระยะเวลาถือครองกรรมสิทธิ์ให้ชัดเจนป้องกันการเก็งกำไร เช่น ไม่น้อยกว่า 3-5 ปี
ควรกำหนดภาษีหรือค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นชาวต่างชาติต่างจากของคนไทย
ควรกำหนดเกณฑ์สำหรับต่างชาติที่ต้องการขายบ้านและที่ดินต่อให้ชัดเจน
พี่ทุยอยากจะบอกว่า เทรนด์การลงทุนและการมาอยู่อาศัยในต่างแดนของคนจีนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยเท่านั้น เพราะคนจีนไปลงทุนและลงหลักปักฐานทั่วโลกเลย
ถ้าดูในมุมของประเทศ หรือพื้นที่ไหนที่คนจีนอยากไปหาที่อยู่อาศัยหรือใช้ชีวิตนอกจีนแผ่นดินใหญ่มากที่สุด พี่ทุยลองส่องข้อมูลจาก Juwai.com เว็บไซต์ขายอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 12.9 ล้านคนต่อเดือน พบข้อมูลดังนี้
คนจีนแผ่นดินใหญ่ – มองหาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ
คนจีนที่อยู่ต่างประเทศ – มองหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ตัวเองไม่ได้อาศัยอยู่
คนจีนที่อยู่ต่างประเทศ – มองหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ตัวเองไปอาศัยอยู่
รู้จัก Xi yimin กลุ่มคลื่นลูกใหม่ชาวจีนที่อพยพมาอยู่ต่างแดนหลังปี 2000 พอเห็นประเด็นเรื่องการย้ายถิ่นฐานของคนจีนแล้ว พี่ทุยก็นึกถึงรายงานเรื่อง “The Nature of Recent Chinese Migration to Thailand” ที่จัดทำโดย Aranya Siriphon และ Fanzura Banu ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สถาบันการศึกษา Yusof Ishak Institute (ISEAS)
ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ Xin yimin (อ่านว่า ซิน อี้ หมิน) หมายถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะและเป็นคนเมืองที่มาจากจีน โดยนับตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา กลุ่ม Xin yimin จำนวนมากเคลื่อนย้ายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในไทย ตัวเลขการเข้ามาเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบช่วง 20 ปีก่อนหน้า
สิ่งที่กลุ่ม Xin yimin ต่างจาก คนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาในไทยยุคก่อน คือ กลุ่มคนจีนรุ่นก่อน เข้ามาเพื่ออยู่อาศัยถาวรในไทย แต่กลุ่มใหม่นี้หวังมาไทยเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราวมากกว่า โดย Xin yimin ที่มาไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย
1. อพยพจากจีนมาเพื่อทำธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ส่วนใหญ่ลงทุนในภาคการผลิต โดยกรุงเทพฯ เป็นทำเลยอดนิยมที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของที่ทำการภาครัฐหรือสถาบันเอกชนแล้ว ก็ยังมีครูอาสาสมัคร และผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนอิสระอยู่ด้วย
2. คนที่ย้ายถิ่นฐานมาเพื่อจุดประสงค์ทางการศึกษาในทุกระดับชั้น
กลุ่มที่ย้ายมาเพื่อการศึกษา อยู่ในระดับอุดมศึกษามากที่สุด ส่วนใหญ่จะไปเรียนในสถาบันเอกชน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่
3. คนที่อพยพมาเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง
นักท่องเที่ยวจีนก็จัดอยู่ในหมวดนี้ เพราะบางคนมาเที่ยวแล้วก็ติดใจ มีแนวโน้มอพยพมาอยู่เพราะหลงใหลในวิถีชีวิต วัฒนธรรมของประเทศ
4. กลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานมาเพื่อเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
กลุ่มนี้เข้ามาปักหลักธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้าไทยและสินค้าต่างชาติให้กับลูกค้าชาวจีน
ด้วยจำนวนคนที่เข้ามาจากหลากหลายวัตถุประสงค์นี้เอง จึงทำให้เกิดพื้นที่ไชน่าทาวน์ใหม่ในไทย จากเดิมที่มีเยาวราช เป็นไชน่าทาวน์แห่งแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1892 ก็มีห้วยขวาง มาเป็นไชน่าทาวน์ใหม่ ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2016 เพราะมีคนจีนอพยพมาอยู่ในย่านนี้ไม่ต่ำกว่า 7,000 คน
โดยสาเหตุที่คนจีนมารวมตัวกันที่นี่ ส่วนสำคัญก็มาจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสถานทูตจีน และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน แล้วก็ยังมีธนาคารจีนที่เข้าถึงได้ง่าย แถมยังมีร้านอาหารจีน บริการโลจิสติกส์ บริการด้านสุขภาพ สถานีขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย ที่พักที่มีพนักงานพูดภาษาจีนได้ด้วย
คราวนี้ พอดูภาพใหญ่มากขึ้นว่า คนจีนอพยพไปอยู่ที่ไหนบนโลกบ้าง ก็พบข้อมูลในปี 2020 ว่า คนจีนอพยพไปอยู่ต่างแดนทั่วโลกรวม 10,461,000 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยเมื่อเทียบกับปี 2000 ซึ่งมีอยู่ 5,786,954 คน
โดยถ้าดูเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่า มี 688,000 คน ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 526,422 คน ในปี 2000 ส่วนจุดหมายในภูมิภาคนี้ที่คนจีนอพยพไปมากที่สุด ก็คือ สิงคโปร์ มีทั้งหมด 426,000 คน ในปี 2020 ตามมาด้วยไทย มี 77,000 คน และอินโดนีเซีย 76,000 คน
ทั้งนี้ พบว่า คนจีนที่อพยพมาใหม่จำนวนหนึ่ง เริ่มจากเป็นครูอาสาสอนภาษาจีน แล้วก็หันไปทำธุรกิจเล็ก ๆ แต่ด้วยกฎหมายไทย ทำให้คนเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรคนไทยเพื่อค้าขายและทำธุรกิจในไทย
ส่วนบางคนก็ทำหน้าที่เป็นนายหน้าให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยากซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น อสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการศึกษาในไทย
โดยรวมแล้ว คนจีนที่อพยพมาทำธุรกิจในไทย มีทั้งที่ได้ใบอนุญาตถูกต้อง และไม่ได้ใบอนุญาต แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ใบอนุญาต ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริการด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ คลังสินค้า บางคนมาลองขยายฐานธุรกิจในย่านไชน่าทาวน์ใหม่แล้วก็มีแนวโน้มจะย้ายไปต่างจังหวัดแทน หรือบางคนมาทดลองทำแล้วก็อยากย้ายกลับไปจีน
โดยรวมแล้ว พี่ทุยไม่แปลกใจเลยที่คนจีนจะมาอยู่ในไทยเยอะ เพราะต้องยอมรับว่า ด้วยจำนวนประชากรจีนทั่วโลกที่มีรวมกันกว่า 1,400 ล้านคน มากที่สุดในโลก ก็ไม่แปลกอะไรที่คนเหล่านี้จะกระจายตัวเองไปอยู่ตามมุมต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า พึงพอใจกว่า และไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่คนจีนหมายตา
สิ่งที่สำคัญกว่า จึงอยู่ที่ หน่วยงานรัฐของประเทศปลายทางที่คนจีนต้องการไปอยู่ ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยให้คนในประเทศของตัวเองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนหรืออยู่อาศัย ภายใต้เงื่อนไขจำกัด ที่ไม่ทำให้การเข้ามานั้น มากเกินไป หรือเข้าไปรุกล้ำ กระทบกับคนในประเทศด้วย
ข้อมูลจาก : moneybuffalo