ทำไม ไทยขาดดุลการค้า มากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ?

Posted by nor-arfah on November 28, 2022

ปี 2565 นี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 มีตัวเลขการส่งออกที่สูงขึ้น นักท่องเที่ยวกลับมาบ้างแล้ว แต่ก็มีสัญญาณว่า ไทยขาดดุลการค้า มา 5 เดือนติดต่อกันแล้ว สัญญาณนี้จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ พี่ทุยพาไปหาคำตอบกัน

ต้องยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้ มีปัจจัยกดดันหลายอย่าง ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น จนหลายประเทศต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย องค์การการค้าโลก (WTO) เองก็บอกว่า การค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี 2565 ยาวจนถึง 2566 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้ามาถาโถมอีกมากมาย

สำหรับไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก ที่พึ่งพาการค้าขายกับต่างประเทศสูง เมื่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอยู่ในโมเมนตัมที่ชะลอลง เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ซึ่งหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายระหว่างประเทศ ใช้ติดตามสถานการณ์การค้าว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร เรียกว่า ดุลการค้า

ดุลการค้า คืออะไร?

ก่อนที่จะเข้าใจความหมายของดุลการค้า พี่ทุยขอเล่าให้ฟังก่อนว่า อีกหนึ่งตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญและชี้ถึงการเคลื่อนไหวทางการเงินของประเทศ เรียกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ซึ่งหมายถึง ยอดสุทธิของปริมาณเงินไหลเข้า (รายรับ) กับเงินไหลออก (รายจ่าย)

ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1) ดุลการค้า 2) ดุลบริการ 3) รายรับรายจ่ายจากการทำงานและการลงทุน 4) รายรับรายจ่ายจากเงินโอนและเงินบริจาค โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นตัวแปรที่เหล่าบรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุน ใช้ดูความแข็งแกร่งหรือความมั่นคงทางการเงินของประเทศนั้น ๆ เปรียบเสมือนสมุดจดบันทึกรายรับรายจ่ายของเรานั่นเอง

จะเห็นว่า ดุลการค้า หรือ Trade Balance เป็นส่วนหนึ่งของดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เป็นการบันทึกรวบรวมเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น โดยคำนวณจาก ผลต่างของมูลค่าส่งออก เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ข้าว กับมูลค่านำเข้า เช่น เครื่องจักร น้ำมัน

ดุลการค้า (มูลค่าส่งออก – มูลค่านำเข้า) สามารถตีความได้ 3 แบบ คือ

  • หากมูลค่าส่งออก มากกว่า มูลค่านำเข้า (เครื่องหมาย +) หมายถึง ดุลการค้าเกินดุล (Trade Surplus)
  • หากมูลค่าส่งออก น้อยกว่า มูลค่านำเข้า (เครื่องหมาย -) หมายถึง ดุลการค้าขาดดุล (Trade Deficit)
  • หรือหากมูลค่าส่งออก เท่ากับ มูลค่านำเข้า (เครื่องหมาย 0) หมายถึง ดุลการค้าสมดุล (zero Trade Balance) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

ดุลการค้าของไทยในปัจจุบัน เป็นอย่างไร?

ย้อนกลับไปในปี 2564 มูลค่าส่งออกของไทย (ในรูปเงินบาท) อยู่ที่ราว 8.57 ล้านล้านบาท นับเป็นปีที่ไทยมีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19% จนภาคส่งออกกลายเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากโควิด-19 ขณะที่มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 8.53 ล้านล้านบาท ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน แต่เมื่อหักล้างกันแล้ว ทำให้ปี 2564 ไทยเกินดุลการค้าอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

เข้าสู่ปี 2565 มูลค่าส่งออกของไทยยังเติบโตดีต่อเนื่อง โดยมูลค่าส่งออกรวม 8 เดือนแรกอยู่ที่ 6.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ถึง 22% อย่างไรก็ตาม มูลค่านำเข้าในช่วงเดียวกันนี้กลับมีมูลค่าสูงถึง 7.22 ล้านล้านบาท ทำให้เมื่อคำนวณดุลการค้าแล้ว ไทยขาดดุลการค้าสะสมประมาณ 5.8 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556 เลยทีเดียว

หากเจาะลึกลงไปดูดุลการค้าเป็นรายเดือน ดังตารางด้านล่าง จะเห็นว่า ไทยขาดดุลการค้ามาแล้ว 5 เดือนติดต่อกัน และมูลค่าของการขาดดุลก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 7.4 หมื่นล้านบาทในเดือน เม.ย. 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ณ เดือน ส.ค. 2565

ถึงตรงนี้ พอจะเห็นแล้วว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกอย่างมหาศาล แต่ในอีกฟากหนึ่งก็มีรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าเข้าประเทศมากเช่นเดียวกัน

ทำไม ไทยขาดดุลการค้า มากขนาดนี้?

พี่ทุยแบ่งเป็น 2 สาเหตุสำคัญ ดังนี้

สาเหตุที่ 1: ไทยมีการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงมากกว่าการส่งออก

ไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการนำเข้าสูง โดยเฉพาะน้ำมันและเชื้อเพลิง โดยในปี 2564 ทั้งประเทศมีการใช้พลังงานรวมกันทั้งสิ้นราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ผลิตได้เองเพียง 800,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนน้ำมันดิบก็ผลิตได้เองไม่ถึง 10% ของความต้องการใช้ทั้งประเทศ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการใช้ในปริมาณมหาศาล

โดยไทยมีการนำเข้าสินค้าน้ำมันและเชื้อเพลิงมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งประเทศ และเป็นสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ามากที่สุด รองลงมาเป็น เคมีภัณฑ์ และสินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าทั้ง 3 หมวดนี้ ไทยมีการนำเข้ารวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่านำเข้ารวม

นอกจากนี้ หากย้อนดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าส่งออกน้ำมันและเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ปีละเพียง 3.2 แสนล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิงสุทธิ (Net Importer) ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าเฉลี่ยสูงถึงปีละ 9.0 แสนล้านบาท ดังภาพด้านล่าง

สาเหตุที่ 2: เงินบาทอ่อนค่ามาก ทำให้มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น

ทิศทางค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าชัดเจนขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ล่าสุดในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปีที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 20 ปี ตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed

แม้ในภาพรวม เงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออกจากการแปลงรายรับกลับเป็นเงินบาทที่ได้เพิ่มขึ้น แต่ในอีกฝั่งหนึ่ง ด้วยสาเหตุแรกที่ไทยมีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ สูง หากสมมติให้ปริมาณการเข้าเท่าเดิม การที่เงินบาทอ่อนค่า ผู้นำเข้าต้องประสบกับราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ทำให้มูลค่าหรือต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบกับการขาดดุลการค้า แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน โดยเฉพาะยุโรปที่ปัจจุบันเผชิญกับขาดดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเงินยูโรที่อ่อนค่ามากและมีการนำเข้าพลังงานที่สูง ส่วนญี่ปุ่นก็ขาดดุลการค้ามากที่สุดในรอบกว่า 8 ปี รวมถึงเกาหลีใต้ที่ขาดดุลการค้ามาแล้ว 6 เดือนติดต่อกัน

หากไทยขาดดุลการค้า ต่อเนื่อง จะเกิดอะไรขึ้น?

เมื่อย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นและผลกระทบในแง่ต่อเศรษฐกิจช่วงที่ไทยประสบกับภาวะขาดดุลการค้าอย่างหนัก แบ่งได้เป็น 5 ช่วง ดังตารางด้านล่าง จะเห็นว่า ช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2538 -2540 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงนี้ไทยขาดดุลการค้า 3 ปีติดต่อกัน และมีมูลค่าขาดดุลสะสมเกือบ 900,000 ล้านบาท

ปรากฏว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP และเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไทย (สะท้อนจากดัชนี SET Index) ลดลงกว่า 50% ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ GDP ไทยติดลบ 2.8% ในปี 2540 นอกจากสาเหตุหลักที่ต้นตอของวิกฤตมาจากการใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่และปัญหาในภาคการเงิน

สำหรับในช่วงที่ 2 ถึงช่วงที่ 4 ไทยต้องประสบภาวะขาดดุลการค้าเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันอีกครั้ง แต่เมื่อโลกไม่ได้เจอวิกฤตหนัก เศรษฐกิจและดุลการค้าไทยก็รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เห็นได้จาก ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP และเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงบ้าง แต่ GDP ไทยอยู่ในแดนบวกมาโดยตลอด

ขณะที่ช่วงที่ 5 ดังปัจจุบัน ไทยขาดดุลการค้ามาแล้ว 5 เดือนติดต่อกัน ประกอบกับรายได้จากนักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในดุลบริการ เพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ขาดดุลอยู่ 4.3% แต่เงินสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับลดลงจากต้นปีราว 5% แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีผลต่อ GDP เท่าไหร่หนัก เพราะเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของปี 2565 ยังขยายตัวได้ถึง 2.4%

แนวโน้มดุลการค้าของไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร? น่ากังวลหรือไม่?

เมื่อมองไปข้างหน้า อย่างน้อยในช่วงที่เหลือของปีนี้ถึงต้นปีหน้า ไทยมีโอกาสขาดดุลการค้าต่อเนื่องไปอีก เพราะเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ไทยอาจต้องนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ที่จะสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วง High Season ตอนปลายปี เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นบ้างเล็กน้อยจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่เงินบาทอยู่ที่ราว 33 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทก็ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การขาดดุลการค้าไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่ากังวลมากนัก เพราะอีกนัยหนึ่ง การขาดดุลการค้า หมายถึง การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาขยายกำลังการผลิตรองรับการเติบโตและความต้องการสินค้าในอนาคตที่มากขึ้น

แต่จากสถานการณ์การขาดดุลการค้าในปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีต แม้จะอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลเท่าไหร่ แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้ เพราะหากอนาคตยังขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเวลานานไม่ใช่ผลดีแน่นอน เพราะอาจทำให้เงินสำรองของประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง

ฉะนั้น เพื่อลดภาวะขาดดุลการค้า ไทยจำเป็นต้องใช้ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้ง รวมถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ควบคู่ไปกับกับพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตขุดเจาะน้ำมันและเชื้อเพลิงให้มากขึ้นกว่าเดิม

รวมถึงประชาชนในประเทศต้องร่วมมือกันประหยัดน้ำมันและพลังงานมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่การผลิตสินค้าบางอย่างของไทยต้องให้มีคุณภาพสูงขึ้นและตอบโจทย์กับ Megatrends ของโลกเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศต่อไป

ข้อมูลจาก : moneybuffalo