หลังจากมีข่าวการล้มละลายของ Silicon Valley Bank และ Silvergate ตามมาด้วยข่าวของการล้มละลายของ Credit Suisse ก็ทำให้นักลงทุนและประชาชนหวั่นใจกับเงินฝากของตัวเองในธนาคารไม่มากก็น้อย วันนี้พี่ทุยเลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักว่า อาการกังวลใจเรื่องเงินฝากของทุกคน สามารถนำพาไปสูวิกฤตได้ หรือที่เราเรียกว่า Bank Run แล้ว Bank Run คือ อะไร
Bank run คือ การที่ลูกค้าจำนวนมากของธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ถอนเงินฝากในเวลาเดียวกันเนื่องจากความกลัวเกี่ยวกับการชำระหนี้ของธนาคาร
เมื่อมีคนถอนเงินมากขึ้น ความน่าจะเป็นของการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้น คนก็ยิ่งถอนเงินฝากมากขึ้น เพราะความกลัว และการหมดความเชื่อว่าธนาคารจะสามารถคุ้มครองเงินฝากของตนเองได้ทั้งหมด
ในกรณีที่รุนแรงที่สุด เงินสำรองของธนาคารอาจไม่เพียงพอต่อการถอนเงิน นั่นทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องของธนาคารตามมา วิธีหนึ่งที่ธนาคารใช้เพื่อเพิ่มเงินสดในมือได้ นั่นคือการขายสินทรัพย์ออกไป ซึ่งบางครั้งในราคาที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่จำเป็นต้องขายทันทีทันใด
การขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าอาจทำให้เกิดความกังวล ซึ่งอาจทำให้เกิด Bank Run จนล้มละลายได้ในที่สุด และเมื่อกระทบไปยังหลายธนาคารที่เกี่ยวข้อง อาจสร้างความตื่นตระหนกทั้งตลาด ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้
จริง ๆ แล้ว Bank Run ของธนาคารมักเป็นผลมาจากความตื่นตระหนกมากกว่าการที่สถาบันการเงินต่าง ๆ เข้าใกล้การล้มละลายจริง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ก่อนจะเกิดความตื่นตระหนกของคน สถาบันการเงินนั้น ๆ อาจจะมีปัญหาเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขได้ หรือ หากรัฐบาลเข้ามาช่วยก็สามารถทำให้ผ่านพ้นวิกฤติ ไปได้
แต่เมื่อลูกค้าธนาคารเห็นถึงจุด ๆ นั้น และคิดว่า ธนาคารจะไปต่อไม่ได้ หรือ กลัวเงินตัวเองจะอยู่ไม่ครบ เลยแห่ไปถอนเงินจากธนาคารออกมา และเมื่อคนหลายคนเห็นตรงกัน ก็สามารถผลักดันให้ธนาคารเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้จริง ๆ
ดังนั้น สิ่งที่เริ่มต้นด้วยความตื่นตระหนกที่ไม่มีความจริง สามารถกลายเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตได้ในที่สุด
Bank Run สามารถทำให้ธนาคารล้มละลายได้ และเพิ่มโอกาสการเกิดวิกฤตการเงินมากขึ้น โดยปกติแล้ว ธนาคารจะมีเงินสดอยู่ในมือในปริมาณที่จำกัด ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่เท่ากันของเงินฝากโดยรวม หากลูกค้าต้องการเงินมากเกินไป ธนาคารก็จะมีไม่เพียงพอที่จะคืนให้กับผู้ฝากเงินของตนนั่นเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้คือสภาพคล่อง การแก้ปัญหา Bank Run ในระยะสั้นคือให้ธนาคารเตรียมเงินสดเพื่อทำให้ลุกค้าเข้าถึงเงินสดของตัวเงอได้มากที่สุด เหมือนกับที่ สหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อสำรองให้กับสถาบันการเงินที่ยังอยู่ในระบบ แล้วเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ล้มไปแล้ว
เมื่อเงินสดสำรองของธนาคารไม่พอ ธนาคารอาจกู้ยืมเงินจากธนาคารอื่นหรือธนาคารกลาง ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้ธนาคารล้มละลายได้
อย่างเช่น ในปี 2566 ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ประกาศโครงการ “Bank Term Funding Program (BTFP)” ระยะสั้นใหม่เพื่อสนับสนุนสถาบันที่ต้องการสภาพคล่องเพื่อให้เป็นไปตามภาระผูกพัน โดยกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะรับประกันธนาคารกลางสหรัฐฯ สูงถึง 25 พันล้านดอลลาร์ภายใต้โครงการนี้ และครอบคลุมเงินฝากประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์ด้วยนั่นเอง
การประกันเงินฝากของลูกค้า โดยรับประกันว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับเงินคืนตามจำนวนที่ประกันไว้
การประกันเงินฝากเริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อมีการก่อตั้ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) หน่วยงานดังกล่าวได้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบการธนาคาร และหน้าที่ขององค์กรคือเพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับเงินคืนหากธนาคารล้มละลาย
หากธนาคารล้ม บริษัทประกันเช่น FDIC อาจอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหา เช่น การเข้าซื้อกิจการโดยธนาคารที่มีทุนสำรองสูงเพื่อช่วยเหลือธนาคารที่มีช่องโหว่ (และลูกค้าของธนาคาร) จากนั้นลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินฝากภายใต้ธนาคารที่รวมกันได้
ใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูง ในรูปแบบเงินฝากที่มีระยะเวลากลางถึงยาว เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาฝากอีกครั้งเงินฝากประจำช่วยล็อคหนี้สินของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นธนาคารจึงสามารถอยู่รอดได้แม้ว่าลูกค้าจะถอนเงินฝากอื่นๆ ก็ตาม
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ FDIC ระบุว่า ยอดคงเหลือของกองทุน The Deposit Insurance Fund อยู่ที่ 1.28 แสนล้านดอลลาร์ (หรือราว 4.42 ล้านล้านบาท) ณ วันที่ 31 ธันวาคม จากจำนวนเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในสหรัฐฯ ที่ 17.61 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือราว 606,857,657 ล้านบาท) ตามข้อมูลจาก Federal Reserve Economic Data (FRED)
สำหรับประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าเงินในกองทุนอยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ขณะที่เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง มีจำนวนทั้งสิ้น 16.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 5.80 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.72% (YoY)
ขณะที่ผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน (เนื่องจากมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท) อยู่ที่ 98.01% ของผู้ฝากทั้งหมด โดยจำนวนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 16,784,193 ล้านบาท ณ ม.ค. 2566
ข้อมูลจาก : moneybuffalo