สรุปรวม ประเทศล้มละลาย ทั่วโลกในรอบ 20 ปี – ปัจจุบันที่ไหนกำลังวิกฤต

Posted by nor-arfah on October 26, 2022

ตั้งแต่โควิด-19 จนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศต่างก็ ‘อ่วม’ ไม่น้อยโดยเฉพาะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งตัวสูงขึ้น บางประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็นเลบานอน ศรีลังกา ลาว วันนี้พี่ทุยจะพาย้อนกลับไปในอดีตว่ามี ประเทศล้มละลาย ที่ไหนบ้างในโลก

รวมถึงมีสาเหตุที่มาที่ไปเป็นแบบไหน ประเทศเหล่านั้นรอดพ้นจากวิกฤตมาได้ยังไง และสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันจะออกมาในรูปแบบไหน พี่ทุยจะมาสรุปให้ทุกคนได้ฟังกัน

ประเทศล้มละลาย คืออะไร มีผลยังไง?

เริ่มแรกพี่ทุยอยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับคำว่า “ล้มละลาย (Bankrupt)” กันก่อน

หากพูดถึงการล้มละลายในบริบทระดับบุคคลอย่างเรา ๆ ตามกฎหมายของไทย คือ เป็นบุคคลที่มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท แต่หากเป็นนิติบุคคลคือมีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ บุคคลหรือนิติบุคคลเหล่านี้ก็จะถูกศาลสั่งให้เข้าสู่ภาวะล้มละลายทันที เสียสิทธิในการทำนิติกรรมทุกประเภทไปนั่นเอง

แต่หากพูดถึงการล้มละลายในบริบทของประเทศนั้นค่อนข้างที่จะความคลุมเคลือและไม่มีนิยามตายตัว แต่ก็สามารถอธิบายได้คือเป็นประเทศที่มีหนี้จำนวนมากจนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนดทำให้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการบริหารที่ผิดพลาด หมุนเงินไม่ทัน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย ซึ่งผลที่ตามมาคือประเทศเสียเครดิต นักลงทุนต่างชาติก็ไม่อยากเสี่ยงเอาเงินเข้ามาลงทุน

และเจ้าหนี้ทั้งหลายแหล่ไม่ว่าจะเป็นประเทศอื่น สถาบันการเงิน องค์การระหว่างประเทศก็หมดความเชื่อมั่นในประเทศที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ และส่งผลเป็นลูกโซ่ภายในประเทศที่อาจทำให้เศรษฐกิจล่มสลายได้เลยนั่นเอง สุดท้ายก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูทั้งความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจของตัวเองกลับคืนมา

ย้อนดูวิกฤต ประเทศล้มละลาย ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

ในประวัติศาสตร์ ก็มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีปัจจัยที่ต่างกันออกไป โดยพี่ทุยจะพาทุกคนไปย้อนดูว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มีประเทศไหนบ้างที่เจอวิกฤตจนถึงขั้นอยู่ในภาวะล้มละลาย รวมถึงเจาะไปอีกว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นมาถึงจุดนี้

อาร์เจนตินา : หนี้ท่วมหัวจะเอาตัวรอดได้ยังไง?

เรามาเปิดด้วยประเทศในอเมริกาใต้อย่างอาร์เจนตินา ที่พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ก็เจอวิกฤตครั้งใหญ่ถาโถมเข้าใส่ คือเศรษฐกิจประเทศตกต่ำในปี 1998-2002 โดยในช่วงนี้ GDP ของประเทศติดลบติดต่อกัน 4 ปี อัตราการว่างงานจาก 12% ในปี 1998 พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึง 20% ในปี 2002

จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งนี้มาจากอะไร?

โดยเรื่องของเรื่องคือ อาร์เจนตินาพื้นเพแล้วมีจุดขายอยู่ที่การทำเกษตรและปศุสัตว์ แถมมีระบบการเมืองแบ่งเป็น 23 รัฐ โดยแต่ละรัฐก็จะมีผู้ว่าการที่สามารถใช้งบและออกนโยบายได้แบบอิสระ ซึ่งประธานาธิบดีหรือรัฐบาลกลางไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้อาร์เจนตินาต้องเจอปัญหาเศรษฐกิจทั้งเรื่องเงินเฟ้อ การคลังและดุลชำระเงินระหว่างประเทศขาดดุล (รายจ่าย > รายรับ) มาโดยตลอด เพราะรัฐบาลกลางจะปฏิรูปหรือขยับนโยบายเศรษฐกิจแต่ละที ก็ต้องทำแบบไม่ให้กระทบผู้ว่าการรัฐ

คราวนี้ก็มาถึงจุดพีคในปี 1989 ที่ประเทศมีปัญหาหมักหมมจนเจอกับเงินเฟ้อที่พุ่งไปถึง 3,046% (จากในปี 1988 อยู่ที่ 381%) ทำให้เงินเปโซของอาร์เจนตินาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว สินค้าแพงขึ้นแบบหูฉี่ นักลงทุนก็พากันเบือนหน้าหนี

แต่แล้วในปี 1991 รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดี “คาร์ลอส เมเน็ม (Carlos Menem)” ก็ตัดสินใจแก้ปัญหาทั้งหลายแหล่แบบตรง ๆ เลย คือเอาเงินเปโซของตัวเองผูกติดกับเงินดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าหลังใช้นโยบายนี้ เงิน 1 เปโซ ก็จะเท่ากับเงิน 1 ดอลลาร์

โดยผลที่ตามมาถือว่าไปได้สวยเลยทีเดียวหลังจากผูกค่าเงิน เพราะอัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 1991 อยู่ที่ 140%

ปี 1992 ลดลงมาที่ 16%

และในปี 1994 อยู่ที่ 3%

เรียกได้ว่า ในช่วงแรกนั้น ใคร ๆ ต่างก็คิดว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาแก้ปัญหาได้ถูกจุดและเฉียบขาด แต่ขอบอกเลยว่า หายนะที่แท้จริงได้เริ่มก่อตัวขึ้นในเวลาหลังจากนี้นี่เอง!

พี่ทุยขอเล่าก่อนว่าค่าเงินของประเทศต่าง ๆ นั้น ต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างดอลลาร์ หรือทองคำหนุนหลังอยู่ และหากมองที่อาร์เจนตินา การผูกค่าเงินเปโซกับเงินดอลลาร์ ถึงแม้จะแก้เงินเฟ้อได้จริง แต่ปริมาณเงินเปโซในระบบก็ต้องมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศหนุนหลังอยู่เต็มมูลค่า เพื่อไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ

ซึ่งจากการผูกค่าเงิน อาร์เจนตินาก็ส่งออกสินค้าได้ยากขึ้นและการท่องเที่ยวหดตัวลงเพราะเงินเปโซแข็งค่ามาก ทุนสำรองระหว่างประเทศเลยมีน้อยจนทำให้การขยายปริมาณเงินเปโซในระบบเป็นไปได้ยาก และในที่สุดเงินก็เริ่มฝืด ทำให้การลงทุนจากที่น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงไปอีก คราวนี้เมื่อไม่มีการลงทุน การจ้างงานก็ไม่เกิด คนก็เริ่มตกงานกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

รัฐบาลก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน โดยการกู้เงินทั้งจากต่างประเทศและ IMF ในช่วงปี 2000 ซึ่งจากเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนก็กลัวว่ารัฐบาลจะยกเลิกการผูกเงินเปโซกับเงินดอลลาร์ เลยพากันแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร เพื่อเอาเงินเปโซไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ มาถือไว้

รัฐบาลเลยออกกฎหมายห้ามถอนเงินออกจากธนาคารในปี 2001 ทำให้เกิดการจราจลและม็อบทั่วประเทศ พ่วงมาด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ถึงขีดสุด และอาร์เจนตินาไม่สามารถจ่ายหนี้จำนวน 132,000 ล้านดอลลาร์ ตามเวลาที่กำหนดได้ จนอยู่ในภาวะล้มละลาย

และในปี 2002 รัฐบาลก็ยกเลิกการผูกเงินเปโซกับดอลลาร์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึง 30% แต่ก็แลกกับการที่อาร์เจนตินาส่งออกสินค้าได้มากขึ้น เพราะเงินเปโซอ่อนค่าลง รวมถึงการท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2003

แต่จากการผิดนัดชำระหนี้จนอยู่ในภาวะล้มละลาย ทำให้อาร์เจนตินาต้องใช้เวลาอีกหลายปีทีเดียวในการฟื้นฟูเครดิตของตัวเอง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้กลับมาอีกครั้ง

กรีซ : หายนะจากการกู้ยืม

มาถึงเคสที่สองอย่างกรีซ ที่เป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งอย่างที่ทุกคนคงรู้กันว่าประเทศในกลุ่ม EU ส่วนใหญ่จะใช้สกุลเงินเดียวกันคือยูโร ซึ่งทำให้อำนาจกำหนดนโยบายการเงินทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่ธนาคารกลางยุโรป

คราวนี้ สมาชิกของ EU ก็ใช่ว่าจะมีเศรษฐกิจเข้มแข็งไปทุกประเทศ โดยเฉพาะกรีซที่เมื่อเข้าระบบเงินยูโร ก็สามารถกู้เงินจากสมาชิกใน EU จำนวนเยอะ ๆ แต่มีดอกเบี้ยต่ำ ๆ ได้ ซึ่งรัฐบาลกรีซก็จัดการกู้มาเพื่อใช้ในนโยบายประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ เช่น เพิ่มสวัสดิการสังคมและอุ้มค่าแรงคนในประเทศ

จนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับ GDP ของประเทศที่ยังต่ำอยู่ แต่ก็ไม่เกิดปัญหาเพราะกรีซสามารถหมุนหนี้ได้อยู่ตลอด โดยการกู้เงินจากอีกประเทศเพื่อมาจ่ายหนี้อีกประเทศ ซึ่งด้วยการเป็นสมาชิก EU และใช้เงินสกุลยูโร ทำให้กรีซยังคงมีเครดิตจนสามารถกู้ได้เรื่อย ๆ แบบไม่ติดขัดอะไร

แต่แล้ว ในปี 2008 ก็เกิดวิกฤตซัพไพร์มขึ้นในสหรัฐอเมริกา จนทำให้สินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) ซึ่งภาวะที่ว่านี้ เป็นช่วงเวลาที่คนมีความต้องการกู้ยืมเงินสูงมาก แต่เงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดกลับมีน้อย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อทำให้คนอยากกู้ยืมน้อยลง กระทบไปที่การลงทุนก็น้อยลงไปด้วยเพราะเงินหายาก การเงินรวมถึงธุรกิจขาดสภาพคล่อง และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในที่สุด

พอโลกอยู่ในภาวะที่ว่านี้ หายนะก็มาเยือนกรีซ เมื่อประเทศอื่น ๆ ต่างก็เจ็บหนักกันถ้วนหน้า จนไม่สามารถให้กรีซกู้ยืมเงินได้อีกต่อไป!

คราวนี้ ในปี 2009 กรีซที่มีหนี้สูงถึงระดับ 389,376 ล้านดอลลาร์ แต่ GDP อยู่ในระดับ 331,310 ล้านดอลลาร์ ย่อมเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักแน่นอน จนต้องหันไปกู้กับ IMF แทน เพื่อมาหมุนหนี้ ซึ่งในปีต่อ ๆ มา ระดับหนี้ของกรีซก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย แต่กลับพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เศรษฐกิจตกต่ำจนอัตราว่างงานสูงสุดในปี 2013 คือแตะระดับ 27%

รวมถึงในปี 2015 ก็ยังไม่สามารถจ่ายหนี้คืน IMF ได้ตามกำหนดเวลาอีกด้วย และกรีซก็ต้องเจอปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน

เวเนซุเอลา : เศรษฐีน้ำมันสู่การพังทลายทางเศรษฐกิจ

เคสที่สาม พี่ทุยขอข้ามไปยังประเทศที่เคยรวยที่สุดในทวีปอเมริกาใต้อย่างเวเนซุเอลา โดยเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกคือประมาณ 303,800 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 17.5% จากปริมาณน้ำมันสำรองของโลก

ประเทศที่มีขุมน้ำมันอันมหึมาขนาดนี้ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนเข้าใกล้ภาวะล้มละลายได้ยังไง?

โดยเรื่องราวเริ่มต้นในปี 1999 เมื่อฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเน้นนโยบายประชานิยมแบบเต็มที่ ทั้งการช่วยประชาชนสร้างบ้าน เพิ่มสวัสดิการสังคม หรือแม้กระทั่งให้คนเลิกทำเกษตรแล้วไปนำเข้าสินค้าพวกนี้จากต่างประเทศแทน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นแบบสุด ๆ รวมถึงรัฐบาลฮูโก ชาเวซก็ได้รับความนิยมแบบถล่มทลาย

แถมประธานาธิบดีคนต่อมาอย่างนิโคลัส มาดูโร (Nicolas Maduro) ที่ขึ้นมาในปี 2013 ก็ยังสานต่อนโยบายประชานิยมต่อไป โดยยึดน้ำมันเป็นถังเงินของประเทศที่ตอบสนองต่อประชานิยม (รายได้จากการส่งออกกว่า 90% ของประเทศมาจากน้ำมันเพียงอย่างเดียว)

แต่ทว่า เวเนซุเอลาที่ฝากชีวิตไว้กับน้ำมัน เมื่อคราวต้องเจอวิกฤตจู่โจมเข้าสักครั้งหนึ่ง ก็อาจกลายเป็นหมัดน็อกได้เลย เมื่อราคาน้ำมันเริ่มตกลงเรื่อยๆ

จากในปี 2012 อยู่ที่ 109 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล

มาในปี 2014 ราคาอยู่ที่ 96 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล

และในปี 2016 ราคาดิ่งลงมาที่ 40 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล

เรียกได้ว่า เวเนซุเอลาเกิดหายนะยิ่งกว่าอาร์เจนตินาหรือกรีซเลยทีเดียว!

ราคาน้ำมันที่ดิ่งลง ทำให้รายได้ประเทศหดหายครั้งใหญ่ เมื่อท่อหล่อเลี้ยงเดียวอย่างน้ำมันเริ่มพึ่งพาไม่ได้ จะให้หันไปทำอย่างอื่นแทนก็แทบไม่ทันแล้ว เพราะโครงสร้างของประเทศถูกก่อขึ้นมาจากน้ำมันและประชานิยม สุดท้ายพอเงินไม่มี รัฐบาลก็แก้ปัญหาโดยการพิมพ์เงินออกมาใช้เองแบบดื้อ ๆ โดยไม่สนใจเงินทุนสำรอง จนสุดท้ายก็เกิดเงินเฟ้อแบบรุนแรง (Hyperinflation) ขึ้นมาอีก

ซึ่งพื้นเพดั้งเดิม เวเนซุเอลาก็เป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงอยู่แล้ว

ในปี 2014 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 62%

ปี 2015 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 121%

ปี 2016 ที่เกิดวิกฤต อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 254%

ซึ่งพอรัฐบาลเริ่มพิมพ์เงินใช้เอง อัตราเงินเฟ้อก็พุ่งทะยานระดับประวัติศาสตร์ในปี 2018 คืออยู่ที่ 1,300,000%

เรียกได้ว่าเฟ้อหนักจนรัฐบาลต้องเปลี่ยนสกุลเงินจากโบลิวาร์แบบเก่าเป็นโบลิวาร์แบบใหม่ (Sovereign Bolivar) โดยตัดเลข 0 ออกห้าตัว เพื่อให้ประชาชนซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น แต่การเปลี่ยนสกุลเงินใหม่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้น เวเนซุเอลาเริ่มขาดแคลนอาหาร รวมถึงหนี้ก็เริ่มสูงขึ้น

โดยในปี 2018 นี้เอง ที่ทั้งประเทศก็ตกอยู่ในความโกลาหลแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดม็อบรวมตัวประท้วงรัฐบาล และมีประชากรกว่า 3 ล้านคน พากันอพยพออกนอกประเทศ

อีกทั้งในปี 2020 อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าทั้งโลกต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งก็ทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงไปต่ำสุดที่ 11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เวเนซุเอลาก็ยิ่งเข้าใกล้ภาวะล้มละลายมากกว่าเดิม ประชากรอพยพออกนอกประเทศในปีนี้กว่า 6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นการอพยพพลัดถิ่นครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์แซงหน้าประเทศที่มีสงครามด้วยซ้ำ

และถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มดีดกลับมาในหลัก 100 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลในปี 2022 เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่มันก็ยังไม่มากพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของอดีตเศรษฐีน้ำมันผู้นี้ให้กลับมาอู้ฟู่เหมือนวันวาน สุดท้ายพี่ทุยคิดว่าอาจใช้เวลานับสิบปีที่เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง

ปัจจุบัน เมืองไหนส่อเค้าเป็น ประเทศล้มละลาย บ้าง?

คราวนี้ หากมามองในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็มีหลายประเทศเลยทีเดียวที่กำลังเจอวิกฤต และหากจับบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาชำแหละเหตุการณ์ในปัจจุบัน จะสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง?

เลบานอน

อย่างที่เราเห็นกันว่าเลบานอนในช่วงปี 2021 และ 2022 กำลังเจอกับวิกฤตการเงินอย่างหนัก เพราะความขัดแย้งทางการเมืองทั้งศาสนาและเชื้อชาติรวมถึงสงครามกลางเมือง ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงและเงินบริจาคจากคนเลบานอนที่อยู่ต่างประเทศเริ่มน้อยลง (เงินส่วนนี้ถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของประเทศเลยทีเดียว)

คราวนี้ ก็ทำให้รัฐบาลกู้ยืมเงินจนหนี้พุ่งสูงขึ้นเหมือนเคสก่อน ๆ ที่พี่ทุยได้เล่าไป ซึ่งก็สวนทางกับ GDP ของประเทศที่ดิ่งลง

จากปี 2019 GDP อยู่ที่ 51,610 ล้านดอลลาร์

ในปี 2021 GDP ดิ่งลงมาอยู่ที่ 18,080 ล้านดอลลาร์

แถมอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 154%

โดยทั้งหมดก็ส่งผลมาในปัจจุบันที่เศรษฐกิจของเลบานอนตกต่ำ และเข้าใกล้กับภาวะล้มละลาย จนต้องกู้เงินจาก IMF มาหนุนต่อ แต่เราก็ได้เห็นแล้วจากวิกฤตในครั้งก่อน ๆ พี่ทุยคิดว่าการแก้ปัญหาโดยการกู้เงินเพียงอย่างเดียวนั้นก็อาจนำพาไปสู่การล้มละลายได้เหมือนเดิม

ซึ่งในกรณีของเลบานอนอาจไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนระบบเงินตราหรือรูปแบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อาจต้องปฏิรูปการเมืองและสังคม ลดความขัดแย้งภายในเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและเงินบริจาคกลับคืนมานั่นเอง

ศรีลังกา

เป็นอีกประเทศที่กำลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจไม่แพ้เลบานอน ซึ่งมีรากมาจากสงครามกลางเมืองปี 1983-2009 ในยุคพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งตระกูลราชปักษาสามารถปราบผู้ก่อการร้ายกลายเป็นฮีโร่และขึ้นกุมอำนาจประเทศ

แต่สงครามก็ทำให้ศรีลังกาบอบช้ำพอสมควร และหันไปกู้เงินโดยเฉพาะจากจีนเพื่อมาพัฒนาประเทศทั้งสร้างท่าเรือยักษ์และสนามบิน ซึ่งก็ทำให้หนี้ของประเทศเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

และแล้วในปี 2021 ผลจากโควิด-19 ก็ทำให้การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศลดลง แต่รัฐบาลราชปักษาก็ยังใช้นโยบายแบบประชานิยม ทั้งลดภาษีและเพิ่มสวัสดิการสังคม ซึ่งผลก็ลงเอยเหมือนกับเคสของกรีซและเวเนซุเอลา ที่เงินเริ่มเฟ้อมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะจ่ายหนี้ไม่ทันตามเวลา

เศรษฐกิจภายในศรีลังกาเริ่มพังทลาย ซึ่งวุ่นวายไม่ต่างจากเวเนซุเอลา และพี่ทุยคิดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในศรีลังกาตอนนี้อาจส่งแรงกระเพื่อมต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ได้อีกเช่นเดียวกัน

ลาว

สุดท้ายเป็นประเทศเพื่อนบ้านข้าง ๆ ไทยเรา ที่เจอกับวิกฤตหนี้พุ่งสูง โดยลาวมีความคล้ายกับ ศรีลังกา ที่เน้นกู้ยืมจากจีนมาพัฒนาสร้างโปรเจกต์ใหญ่ทั้งเขื่อน โรงไฟฟ้าและทางรถไฟ ซึ่งวิกฤตก็เริ่มถาโถมตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ทั้งโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและเงินกีบอ่อนค่าลง แถมทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวยังต่ำมาก และยังแบกรับหนี้กว่า 14,500 ล้านดอลลาร์

ซึ่งพี่ทุยคิดว่ามีแนวโน้มสูงมากที่ลาวจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามเวลา หากไม่มีประเทศหรือองค์กรการเงินอื่นยื่นมือเข้ามาช่วย

โดยรวมแล้วในศตวรรษที่ 21 เกิดวิกฤตอะไรขึ้นมาบ้างที่ทำให้ประเทศบางประเทศอยู่ในภาวะล้มละลายหรืออยู่ในจุดเสี่ยง ซึ่งพี่ทุยขอสรุปเรื่องราวทั้งหมดให้ดู ดังนี้

สุดท้ายเราจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่นำไปสู่วิกฤตจนถึงขั้นที่ประเทศอยู่ในภาวะล้มละลายนั้นมีทั้งปัจจัยภายในไม่ว่าจะเป็นสภาพการเมืองและระบบการปกครองที่ไม่ได้เอื้อต่อเศรษฐกิจเหมือนเคสของอาร์เจนตินา หรือการใช้นโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลแบบเวเนซุเอลาและศรีลังกา หรือความขัดแย้งภายในสังคมอย่างเลบานอน

ส่วนปัจจัยภายนอกก็มีทั้งการกู้ยืมเงินเกินตัวอย่างกรีซ ซึ่งดันเกิดวิกฤตสินเชื่อพอดีทำให้กรีซเต้องพบจอวิกฤตหนี้ต่อ รวมถึงสงครามและโรคระบาดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตในช่วงเวลาปัจจุบันทั้งเลบานอน ศรีลังกา ลาว

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งพี่ทุยสรุปให้ทุกคนได้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่เราทุกคนล้วนต้องเรียนรู้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้รอบด้านในอนาคตนั่นเอง

ข้อมูลจาก : moneybuffalo