เลือกตั้ง ตลาดหุ้น เศรษฐกิจ ทำไมถึงเกี่ยวข้องกัน

Posted by nor-arfah on April 25, 2023

ตลาดหุ้นจะขึ้นลงอย่างไร ส่วนหนึ่งก็กระทบต่อเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ยิ่งในช่วง เลือกตั้ง ตลาดหุ้น ก็ยิ่งผันผวนตามความคาดหวังในเศรษฐกิจที่อาจจะเปลี่ยนไปหลังเปลี่ยนรัฐบาล วันนี้พี่ทุยจึงอยากพาไปดูว่า การเลือกตั้งและการเมืองมีผลอย่างไรกับชีวิตและเศรษฐกิจของสังคมเรา

เลือกตั้งและการเมืองมีอิทธิพลต่อชีวิตเราอย่างไร

ต้องบอกว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้าไปในทิศทางใด ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศจะดีแค่ไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือผู้บริหารสูงสุดของประเทศคือผูู้กำหนดชะตาเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจจีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน 2 สมัยแรกในช่วงปลายปี 2555 – 2565 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึง 6-7% ต่อปี

ขณะที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจสำคัญของโลกหลายแห่งก็ประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือสมัยที่ 3 ของ สี จิ้นผิง เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี แถมมีโอกาสเขยิบเข้าใกล้สหรัฐฯ ในการเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกมากยิ่งขึ้น

หรือจะเป็นนางลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีวาระดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อปลายปี 2565 จากการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผิดพลาด จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษเป็นชาติยักษ์ใหญ่เพียงแห่งเดียวในทวีปยุโรปที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปี 2566 นี้

กลับมาที่บ้านเรา เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปของไทยครั้งที่ 27 ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกราว 1 เดือนเท่านั้นที่ประชาชนคนไทยจะเดินเข้าคูหาเพื่อมีส่วนร่วมเฟ้นหารัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศในยุคที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้

และด้วยบรรยากาศการเลือกตั้งที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ดังเห็นได้จากหลายพรรคการเมืองขึ้นเวทีปราศรัยนำเสนอนโยบาย รวมถึงลงพื้นที่สำรวจและทักทายประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

พี่ทุยอยากชวนทุกคนมาพบสังเกตที่น่าสนใจใกล้ตัวเราในแวดวงเศรษฐกิจและการเงินผ่าน 3 ช่วงรัฐบาล ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2552 – 2565 เพื่อให้เห็นการเดินทางของเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และเพื่อนำมาใช้ประเมินทิศทางอนาคตว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินต่อไปอย่างไร

เลือกตั้ง ปี 2566 ฐานเสียงใหญ่สุดอยู่ที่กลุ่ม Gen X ส่วนวัยรุ่นที่เลือกตั้งครั้งแรกมีมากกว่า 4 ล้านคน

เริ่มต้นพี่ทุยหยิบข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งปี 2566 มาให้ดูกันก่อนว่ามีจำนวนทั้งหมดกี่คน โดย กกต. ได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ว่า ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีจำนวนทั้งหมด 52,287,045 คน

โดยจังหวัดที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ จำนวน 4,469,280 คน หรือคิดเป็น 8.5% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด รองลงมาเป็นเป็นนครราชสีมา (2,124,587 คน) อุบลราชธานี (1,477,644 คน) ขอนแก่น (1,453,689 คน) และเชียงใหม่ (1,333,088 คน)

หากแบ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งตาม Generation จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า กลุ่ม Gen X (เกิดปี 2508 – 2523) หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 43 – 58 ปี เป็นกลุ่มฐานเสียงใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนมากกว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่ม Gen Y, Baby Boomer, Gen Z และ Silent Generation ตามลำดับ

แต่หากดูเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) หรือผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง 22 ปี ที่อยู่ในกลุ่ม Gen Z มีจำนวนมากถึง 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.7% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเลยทีเดียว โดยผู้ชายมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อยที่ 51 ต่อ 49

ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงเรื่อย ๆ

ย้อนกลับไปในปี 2552 – 2554 ที่นายอภิสิทธิ์เข้ามาบริหารประเทศ นับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญมรสุมรุมเร้าหลายด้าน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองภายในประเทศ

แถมเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอลง จนรัฐบาลต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อเรียกขวัญกำลังใจและเป็นการช่วยเหลือปากท้องให้กับคนในประเทศ เช่น เช็คช่วยชาติ เบี้ยยังชีพคนชรา เป็นต้น

แต่ในที่สุดปี 2552 โลกได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งจากสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในชื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และขยายวงกว้างไปหลายพื้นที่ทั่วโลก วิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดลบที่ 2.6% เท่านั้น แต่เศรษฐกิจยุโรปก็ติดลบไปด้วยเช่นกันที่ 4.5%

ส่วนเศรษฐกิจไทยก็ไม่รอดติดลบตามไปด้วยที่ 0.7% แม้ในปี 2553 จะกลับมาโตได้ถึง 7.5% แต่ก็กลับมาย่อตัวอีกครั้งที่ 0.8% ในปี 2554 จากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่

นางสาวยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศต่อในเดือน ส.ค. 2554 ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย โดยได้เร่งฟื้นฟูและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใครหลายคนจำกันได้ดี นั่นคือ โครงการรับจำนำข้าว และโครงการรถยนต์คันแรก

โครงการเหล่านี้นับเป็นมาตรการที่ช่วยหนุนกำลังซื้อและสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้คึกคักขึ้น และส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงถึง 7.2% ในปี 2555 แต่ก็แลกมาด้วยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจยุโรปก็ประสบกับวิกฤตหนี้สาธารณะอีก ส่งผลให้การส่งออกไทยติดลบ 2 ปีติดต่อกัน และทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเหลือเพียง 1.0% ในปี 2557

ภายใต้การเมืองที่ร้อนระอุในปีเดียวกันนี้ พลเอกประยุทธ์ได้ยึดอำนาจพร้อมดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยตั้งแต่สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน รวมยะเวลาทั้งหมด 8 ปี หรือ 2 สมัย

เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำประเทศของพลเอกประยุทธ์ในสมัยแรกไม่ได้เจอวิกฤตเศรษฐกิจโลกเหมือน 2 รัฐบาลก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ค่อนข้างดีเฉลี่ยที่ 3.7% ในปี 2558 – 2561 แต่การเติบโตเป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่หวือหวา และไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใดที่โดดเด่นเป็นพิเศษ

เมื่อเข้าสู่สมัยที่ 2 โดยเฉพาะการเจอกับพิษของวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% หนักที่สุดในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และติดลบหนักกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกและประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ติดลบเพียง 3.0% และ 0.6% เท่านั้น

แม้ว่าในปี 2564 และปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ที่ 1.5% และ 2.6% ตามลำดับ แต่การฟื้นตัวยังช้ากว่าประเทศอื่นในเอเชียหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ หากเทียบแนวโน้มหรือเทรนด์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยก่อนและหลังพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีดังภาพด้านล่าง จะพบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตลดต่ำลงเรื่อย ๆ จากเฉลี่ยที่ราว 3% ต่อปี ในช่วงปี 2552 – 2557 เหลือไม่ถึง 2% ด้วยซ้ำในปี 2558 – 2565

เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นนี้ คงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะหากไม่สามารถหาจุดเปลี่ยนให้เศรษฐกิจไทยได้ และสมมติโลกเกิดวิกฤตอีกครั้ง เศรษฐกิจและประชาชนไทยในช่วง 4 ปี หรือ 8 ปีต่อจากนี้ คงประสบความยากลำบากอยู่ไม่น้อย

ของแพง ค่าแรงถูก หนี้เยอะ ล้วนอยู่คู่กับคนไทยมานาน

ในบริบทของสังคมไทยเรื่องการมีงานทำดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหาสักเท่าไหร่ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ตลอด 3 รัฐบาลที่ผ่านมา คนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการมีงานทำเฉลี่ยมากกว่า 98% ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด นั่นหมายความว่า คนไทยส่วนใหญ่มีรายได้แม้จะมีอาชีพที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม คนไทยกลับต้องเผชิญค่าครองชีพที่สูงมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มักจะเป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองมาโดยตลอด ในเรื่องการเพิ่มรายได้และลดความยากจน

เห็นได้จากตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่แม้จะขยับขึ้นอยู่เป็นระยะจากราว 150 – 200 บาทต่อวันในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 300 บาทต่อวันในสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 330 – 350 บาทต่อวันในปัจจุบัน

แต่หากนับเฉพาะ 10 ปีหลังสุด ค่าแรงขั้นต่ำของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.5% ต่อปีเท่านั้น เทียบกับเงินเฟ้อในหมวดสินค้าและอาหารที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นมากกว่า เช่น เนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (3.2%) น้ำมัน 91, 95, ดีเซล (1.7%) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นช่องทางการออมเงินหลักของกลุ่มคนรายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การฝากเงินในธนาคารแทบจะโดนเงินเฟ้อกัดกินไปเกือบทั้งหมด

เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ หรือกลุ่มคนที่มีระดับรายได้กลางถึงบน มักจะมีทางเลือกการออมเงินที่หลากหลายกว่า ตลอดจนยังมีเงินเหลือบางส่วนไปลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ขณะเดียวกัน เรื่องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้แตกต่างกันมาก เป็นอีกหนึ่งนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย ซึ่งความต่อเนื่องเช่นนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนไทยดีขึ้นเป็นลำดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากดัชนีชี้วัดความเหลื่อมของไทยชื่อว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GINI Coefficient) ทั้งด้านรายได้และรายจ่ายลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

โดยดัชนีดังกล่าวเป็นเครื่องมือชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่มีวิธีวัดตามมาตรฐานสากลของธนาคารโลก แต่หากดูความเหลื่อมล้ำในอีกมิติที่สะท้อนโลกความเป็นจริงมากขึ้นผ่านเงินฝากธนาคารของคนไทยจะพบว่า ในปี 2565 จำนวนบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มีมากถึง 88% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่กลับมีมูลค่าเงินฝากคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.8% ของมูลค่าเงินฝากทั้งหมดเท่านั้น

เทียบกับจำนวนบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000,000 บาท ที่มีสัดส่วนเพียง 1.8% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่กลับมีมูลค่าเงินฝากคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของมูลค่าเงินฝากทั้งหมด หมายความว่า คนไทยที่มีเงินฝากธนาคารเกินหนึ่งล้านบาทมีจำนวนน้อยคน แต่มูลค่าเงินฝากรวมกันแทบจะครอบคลุมคนไทยส่วนที่เหลือของประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ดีขึ้นเลยจากทศวรรษที่ผ่านมา

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในระยะหลัง นั่นคือ หนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง โดยในช่วง 14 ปีหลังสุด มูลค่าหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.5 ล้านล้านบาทในปี 2554 มาอยู่ที่ 10.5 และ 15.1 ล้านล้านบาทในปี 2557 และปี 2565 ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

โดยมูลค่าหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงของนางสาวยิ่งลักษณ์กว่า 3 ล้านล้านบาท เทียบกับ 2 สมัยของพลเอกประยุทธ์ที่เพิ่มขึ้นราว 2 ล้านล้านบาท แต่การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ระดับที่ 90% ต่อ GDP จนกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ครัวเรือนแทบจะสูงที่สุดในโลก

สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยกำลังประสบปัญหา รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันรายจ่าย จนต้องกู้หนี้ยืมสิน ส่งผลให้หนี้ก็เพิ่มขึ้นไปอีก

ปัญหาเรื่องรายได้-รายจ่าย ที่วนเวียนอยู่ในสังคมไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลยังแก้ไม่ตก แต่จำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องติดตามดูว่านโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองที่เน้นเรื่องการเพิ่มรายได้และปากท้อง เช่น การเพิ่มค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวัน ลดค่าพลังงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่และจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้แค่ไหน

เลือกตั้ง การเมืองไม่แน่นอน ตลาดหุ้น ไม่ขยับขึ้น

สถานการณ์ทางการเมืองกับเรื่องของดัชนีตลาดหุ้นแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ก็ส่งผลทางอ้อมผ่านความเชื่อมั่นของนักลงทุน เมื่อไหร่ที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ดัชนีตลาดหุ้นอ่อนไหวแทบทุกครั้ง

สังเกตได้จากในอดีตที่ผ่านมา ความวุ่นวายเรื่องปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ จนต้องปิดหน่วยงานรัฐเป็นการชั่วคราวในช่วงเดือน ต.ค. 2556 สร้างความผันผวนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดแรงเทขายจนกดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงราว 5% ก่อนจะปรับเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาหลังจากแก้ปัญหาร่วมกันได้

หรือจะเป็นความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2560 ที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลงราว 3% ก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จะชนะการเลือกตั้ง

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มักจะกดดันตลาดหุ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศทำสงครามการค้ากับจีนเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงทันที 5%

หรือนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อเดือนมิ.ย. 2559 ดัชนีตลาดหุ้นอังกฤษอย่าง FYSE100 ก็ผันผวนขึ้นลงเหมือนรถไฟเหาะ และจวบจนวันที่สหราชอาณาจักรสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหลังเป็นสมาชิกนานเกือบ 50 ปี ทั้งเศรษฐกิจและดัชนีตลาดหุ้นของอังกฤษก็ผันผวนมาโดยตลอด

หลัง เลือกตั้ง ตลาดหุ้น มักปรับลง

ทั้งนี้ มีผลงานทางวิชาการมากมายได้สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองกับดัชนีตลาดหุ้นว่า มีความสัมพันธ์กันในการในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากบรรยากาศการเลือกตั้ง การชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเสมอ

ในส่วนของไทยนั้น แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักสาเหตุเดียวที่กดดันตลาดหุ้นไทย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเกิดความไม่ปกติของเหตุการณ์บ้านเมือง ย่อมกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยหรือเกิดข่าวสารเชิงลบ จะกลายเป็นความเสี่ยงในเรื่องความต่อเนื่องด้านนโยบายเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ

หากใครย้อนดูโดยในช่วง 3 รัฐบาลที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่า ทุกครั้งที่อยู่ในช่วงการเลือกตั้งหรือกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลใหม่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวลงเสมอ แต่จะปรับลงแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละช่วง

พี่ทุยจึงหยิบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เปรียบเทียบก่อนและหลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ครั้งหลังสุด (23 ธ.ค. 2550 / 3 ก.ค. 2554 และ 24 มี.ค. 2562) มาให้ดูกันว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการตอบรับกับกระแสการเลือกตั้งอย่างไรกันบ้าง ดังตาราด้านล่าง

จากตารางจะเห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้วในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 7 – 14 วัน ดัชนีตลาดหุ้นมักให้ผลตอบรับเชิงบวก เนื่องจากช่วงนี้ยังมีการออกมาหาเสียงตามแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศคึกคักขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากวันเลือกตั้งจบลง ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยแล้วแทบจะติดลบทุกช่วงเวลา

แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะค่อย ๆ ปรับตัวให้ผลตอบแทนดีขึ้นนับจากวันเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2 ปีขึ้นไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กว่านักลงทุนจะเชื่อมั่นในรัฐบาลใหม่ที่ค่อย ๆ เริ่มตั้งตัวได้ มีแนวทางการบริหารประเทศที่ชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้นต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งก็สะท้อนถึงแนวทางการลงทุนระยะยาวที่ยิ่งลงทุนได้นานมากเท่าไหร่ โอกาสขาดทุนจะยิ่งน้อยลง หรือมีโอกาสช่วยให้ได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงข้อมูลภาพใหญ่ที่วิเคราะห์และหยิบมาให้ทุกคนดูเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจออมเงินหรือลงทุนในสไตล์ที่แต่ละคนถนัดในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะเกิดการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องพบเจอเหมือนกัน ดังนั้น การวางแผนหรือการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายของตนเอง พร้อมทั้งการตัดสินใจที่ต้องรวมเรื่องความเสี่ยงเข้ามาด้วยอยู่เสมอ จะช่วยให้เราสามารถอยู่รอดและยืนหยัดอยู่ได้

และสุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกคนที่มีสิทธิออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันนะครับ เพราะ 1 เสียงโหวต อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า

ข้อมูลจาก : moneybuffalo