คำนวณ ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ประหยัดกว่าค่าน้ำมันขนาดไหน ?

Posted by nor-arfah on February 22, 2023

พี่ทุยเชื่อว่าตอนนี้กระแส “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ “รถ EV” นั้นกำลังมาแรง และแน่นอนสิ่งต้องคิดพ่วงมาเสมอคือการชาร์จไฟนั่นเอง ซึ่งพี่ทุยจะพาไปคำนวณว่า ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ประหยัดกว่ารถใช้น้ำมันแค่ไหน แล้วในภาพรวมการใช้งานรถ EV ถือว่าคุ้มค่ากว่าจริงหรือเปล่า ไปฟังกัน

ทำความรู้จักกับรถ EV

“รถ EV” ที่พวกเราชอบเรียกกันสั้น ๆ คือ รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน ซึ่งมีทั้งรถยนต์ไฮบริดที่ยังใช้พลังงานไฟฟ้าสลับกับใช้พลังงานจากน้ำมัน กับ “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% ไม่มีเครื่องยนต์ภายในรถ (BEV)

ข้อดีของ “รถยนต์ไฟฟ้า” คือช่วยลดสารมลพิษจากการเผาไหม้ได้ดี หรือที่เขาเรียกกันว่า Zero Emission แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็มีข้อจำกัดอยู่ อย่างในไทยเราสถานีชาร์จไฟรถยนต์ยังมีน้อยและไม่ได้กระจายครอบคลุมทั้งประเทศ อีกทั้งระยะทางในการขับขี่ก็วิ่งได้ประมาณ 300-600 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง สำหรับขนาดแบตเตอรี่ 60-90 กิโลวัตต์ (kW)

นั่นเท่ากับว่าก่อนจะออกทริปสักครั้งหนึ่ง ผู้ใช้ “รถ EV” ต้องวางแผนการเดินทางอย่างรัดกุม จะเดินทางต่อเนื่องกันกี่กิโลเมตร? ถ้าไฟหมดจะมีสถานที่ชาร์จหรือเปล่า? โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และยังต้องเผื่อเวลาในการชาร์จไฟอีกด้วย เพราะการชาร์จไฟครั้งหนึ่งอย่างต่ำก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมงได้

ซึ่งฟังดูแล้วการเดินทางด้วย “รถ EV” อาจจะยุ่งยากกว่าการขับขี่รถใช้น้ำมันปกติ แต่จากราคาน้ำมันในปี 2022 ที่พุ่งทะยานจนแก๊สโซฮอล์ 95 ไปแตะ 40 บาทมาแล้ว จึงทำให้ตอนนี้หลายคนเริ่มหันมาสนใจ “รถ EV” ที่อาจเป็นตัวเลือกใหม่ที่ช่วยประหยัดมากกว่าน้ำมัน

วิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบ

การจะรู้ว่า “รถ EV” นั้นประหยัดกว่ารถที่ใช้น้ำมันหรือไม่ ก็คงต้องเทียบการเติมน้ำมันกับการชาร์จไฟ ซึ่งการชาร์จไฟ “รถ EV” ก็มีหลายวิธีซึ่งมีราคาที่แตกต่างกันไป พี่ทุยจะขอแจกแจงก่อนว่ามีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีกี่แบบ?

1. การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge)

เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากตัวเต้ารับโดยตรง โดยขนาดมิเตอร์ขั้นต่ำที่แนะนำคือ 30(100)A และเต้ารับต้องติดตั้งใหม่เฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยเป็นการใช้ไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ (AC) ซึ่งความเร็วชาร์จไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 7.4 kW ต่อ 1 ชม. ใช้ระยะเวลาในการชาร์จเต็มประมาณ 12-16 ชม. มีค่าชาร์จอยู่ที่ 4.2 บาท ต่อ 1 kWh

2. การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge)

เป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จ EV Charger เป็นตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ที่ช่วยให้ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่รถให้เต็มเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งความเร็วชาร์จไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 22 kW ต่อ 1 ชม. โดยเหลือเวลาชาร์จประมาณ 6-8 ชม. มีค่าชาร์จอยู่ที่ 5.5 บาท ต่อ 1 kWh

3. การชาร์จแบบด่วน (Quick Charge)

เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) เข้าแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0-80% ได้ภายในเวลา 40-60 นาที ซึ่งความเร็วชาร์จไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 50 kW ต่อ 1 ชม. มีค่าชาร์จอยู่ที่ 6.5 บาท ต่อ 1 kWh

ข้อมูลจาก EGAT charging station

คำนวณต้นทุน ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

ถ้าเราอยากรู้ว่าสรุปแล้วต้นทุนในการวิ่ง “รถ EV” 1 กิโลเมตร ต้องใช้ต้นทุนกี่บาท ข้อมูลที่เราต้องมีก็คือ

  1. ความจุแบตเตอรี่ (kWh)
  2. ระยะทางที่วิ่งได้มากสุด เมื่อแบตเต็ม 100% (กิโลเมตร)
  3. ค่าชาร์จไฟฟ้า (บาท/kWh)

ซึ่งข้อมูลจำเพาะพวกนี้จะแตกต่างกันไป ก่อนซื้อรถไฟฟ้าศึกษาข้อมูลของตัวรถให้ดีเสียก่อน

ทีนี้พี่ทุยจะลองคำนวณให้ดู

สมมติ

– ความจุแบตเตอรี่ 60 kWh

– ระยะทางขับขี่สูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม 100% = 500 กิโลเมตร

– ชาร์จด้วยไฟบ้าน มีค่าใช้จ่ายที่ 1kW = 4.2 บาท

การชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งใช้เงิน 60×4.2 = 252 บาท

ต้นทุนต่อ “ค่าไฟของรถ EV” หนึ่งกิโลเมตร 252÷500 = 0.50 บาท

ส่วนใครอยากรู้ว่าแล้วถ้าชาร์จไฟด้วยวิธีที่แตกต่างค่าใช้จ่ายจะมากน้อยกว่าแค่ไหน พี่ทุยทำตารางเปรียบเทียบมาให้แล้ว

จากที่พี่ทุยทำเปรียบเทียบให้ดูจะเห็นว่า หากเปลี่ยนไปใช้รถ EV แล้ว ในระยะทาง 1 กม. จะสามารถประหยัดเงินกว่าค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้ 1.20 บาท เท่ากับว่าลดค่าน้ำมันไปได้ถึง 60%

สมมติถ้าพี่ทุยเคยเติมน้ำมันต่อเดือน 3,000 บาท แต่พี่ทุยเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายพลังงานของพาหนะก็จะเหลือเพียง 1,200 บาท เท่านั้น (ประหยัดไปถึง 1,800 บาทต่อเดือนเลยนะ)

แต่ ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเดียวที่เพิ่มขึ้นมา

การมีรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีที่ชาร์จอยู่ในบ้าน เพราะการชาร์จที่ใช้เวลานาน อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีที่ชาร์จไฟสาธารณะกระจายทั่วไปที่มากพอ ดังนั้นการซื้อรถ EV ต้องคิดไปถึงค่าเครื่องชาร์จไฟที่บ้านด้วย

โดยค่าเครื่องชาร์จ Wallbox ของกฟผ. มีราคาประมาณ 30,000 บาท และมีค่าติดตั้งมิเตอร์ขนาดไม่เกิน 30(100) แอมป์ 1 เฟส อยู่ที่ 749 บาท

เท่ากับว่าต้องชาร์จไฟ 17 ครั้ง หรือขับขี่รถ EV เป็นระยะทาง 6,800 กม. ถึงจะคุ้มค่ากับการติดตั้งที่ชาร์จในบ้าน

ค่าใช้จ่ายอีกอย่างที่ต้องคิดคือการซ่อมบำรุง แม้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ของรถใช้น้ำมันจะมีมากกว่ารถ EV แต่อะไหล่ของรถ EV ยังหายากกว่า และหากรถ EV มีการซ่อมแบตเตอรี่ ค่าแบตเตอรี่ก็แพงมาก เช่น แบตเตอรี่รถ Tesla จะอยู่ที่ 162,000 – 220,000 บาท ถ้าจะใช้รถ EV แล้วช่วยประหยัดมากกว่า อาจต้องใช้รถแค่ในระยะเวลา 10 ปี

ดังนั้นการหันมาใช้รถ EV อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เสียทีเดียวสำหรับการประหยัดเงิน ทั้งการชาร์จไฟที่มีเงื่อนไขมากมาย ค่าบำรุงซ่อมแซม หรือราคารถยนต์ที่ราคาก็ยังสูงพอ ๆ กับรถยนต์ใช้น้ำมันปกติ

แต่ถึงแม้การใช้งานรถ EV อาจจะไม่ได้ช่วยเราประหยัดเท่าไหร่ แต่การที่ทั่วโลกกำลังหันมาใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดนั่นก็เพื่อความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกคุกคามโดยน้ำมือมนุษย์มาตลอดร้อยปี จากการใช้พลังงานจากฟอสซิลซึ่งทำให้เกิดปัญหาภาวะ Climate Change ที่โลกเราร่วมเผชิญอยู่ทุกวันนี้

ข้อมูลจาก : moneybuffalo