[ไขความลับ] ทำไมทองมีค่า ? เป็นเครื่องมือรักษามูลค่า

Posted by nor-arfah on February 20, 2023

“ทองคำ” สินทรัพย์ที่ผูกพันธ์กับมนุษย์มาแล้วนับพันปี ไม่ว่าจะใช้เป็นเครื่องประดับ ตกแต่งสิ่งก่อสร้าง และที่สำคัญสุดซึ่งใช้กันถึงทุกวันนี้ คือ การออมเงินและรักษามูลค่าความมั่งคั่ง แต่ก็มีคำถามว่า ทำไมทองมีค่า ทำไมทองคำถึงถูกใช้รักษามูลค่ากันมาอย่างยาวนาน ไม่มีโลหะอื่นมาทดแทนสถานะนี้ได้

ข้อมูลส่วนใหญ่ในโลกอินเตอร์เน็ตบอกว่าเพราะทองคำมีความคงทนไม่ขึ้นสนิม เปลี่ยนรูปง่าย และหายาก คนเราจึงมีความเชื่อในทองคำ นอกเหนือจากนั้นพี่ทุยอยากพาไปรู้จักกับอัตราส่วนที่ช่วยวัดความสามารถในการเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าได้เช่นกัน ก็คือ อัตราส่วน Stock-to-Flow

ทำไมทองมีค่า ? คำนวณได้ด้วยอัตราส่วน Stock-to-Flow

Stock-to-Flow คืออะไร

อัตราส่วน Stock-to-Flow คือ เป็นอัตราส่วนที่คำนวณจากการนำปริมาณสินค้าที่มีอยู่ทั้งหมดหารด้วยปริมาณที่ผลิตได้ต่อปี เช่น สิ้นปี 2021 มีแร่ A ถูกขุดขึ้นมาใช้งานแล้วทั้งหมด 200,000 ตัน ในปี 2021 แร่ A ถูกผลิตทั้งหมด 4,000 ตัน ดังนั้นอัตราส่วน Stock-to-Flow = 200,000/4,000 = 50 หมายความว่าต้องใช้เวลา 50 ปี เพื่อผลิตให้ได้เท่ากับปริมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สินค้าประเภทโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นทองคำ แร่เงิน ข้าวโพด ถั่วเหลือง จะใช้อัตราส่วน Stock-to-Flow เพื่อวัดว่าต้องใช้เวลากี่ปีในการผลิตให้ได้ปริมาณที่ถูกผลิตออกมาแล้วในปัจจุบัน

รู้จักส่วนประกอบ Demand-Supply ทองคำทั่วโลกกันก่อน – อีกสาเหตุที่ทำให้ทองคำมีค่า

เนื่องจากอัตราส่วน Stock-to-Flow เกี่ยวข้องกับ Demand-Supply พี่ทุยขอพาไปเจาะรายละเอียด Demand-Supply ของทองคำทั่วโลกกันหน่อย

Demand (ความต้องการ): มาจาก 4 แหล่ง โดยปี 2022 World Gold Council ชี้ว่ามีความต้องการทั้งหมด 4740.8 ตัน แบ่งเป็นเครื่องประดับ 46.2% ธนาคารกลาง 23.9% การลงทุน 23.3% และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 6.6%

Supply (กำลังการผลิต): มาจาก 2 แหล่ง ปี 2022 ข้อมูลจาก World Gold Council ชี้ว่ากำลังการผลิตทั้งหมด ตัน แบ่งเป็นเหมืองแร่ 75.9% รีไซเคิล 24.1% มีการป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิตซึ่งลดปริมาณทองคำที่ผลิตได้ไปเล็กน้อย

พี่ทุยขอสรุปว่าความต้องการขับเคลื่อนด้วยความต้องการจากเครื่องประดับเป็นหลัก ส่วนธนาคารกลางและการลงทุนอาจสลับกันได้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ กำลังการผลิตโดยหลักมาจากเหมืองแร่

ทองคำวัดค่าเป็นตัวเลขได้หรือไม่?

ความเชื่อในทองคำ? ทำไมความเชื่อในแร่เงินหรือแพลตตินั่มถึงน้อยกว่า? พี่ทุยขอใช้อัตราส่วน Stock-to-Flow วัดความเชื่อเหล่านี้ออกมาเป็นตัวเลข แล้วเปรียบเทียบให้เห็นว่าทำไมผู้คนถึงเชื่อในทองคำ

อัตราส่วน Stock-to-Flow มักถูกใช้อีกเป็นเครื่องมือชี้วัดความสามารถในการรักษามูลค่าความมั่งคั่งของกลุ่มโลหะมีค่า โดยหลักการใช้อัตราส่วน Stock-to-Flow คือ Stock-to-Flow ยิ่งสูง แปลว่า เป็นสินค้ายิ่งมีความสามารถในการรักษามูลค่าสูง

พี่ทุยขอใช้ข้อมูลช่วงปี 2020 ชี้ว่าแร่เงินมี Stock-to-Flow ประมาณ 22 ส่วนทองคำอยู่ที่ประมาณ 65 แพลททินั่ม 1.1 ทองแดง 0.06 แล้วทำไม Stock-to-Flow ยิ่งสูงถึงยิ่งมีความสามารถในการรักษามูลค่าความมั่งคั่ง?

หลักการง่าย ๆ โดย Stock คือ สิ่งของที่มีอยู่ทั้งหมด ส่วน Flow คือ สิ่งของที่ผลิตเข้ามาเพิ่ม ถ้า Flow เพิ่มขึ้น มีสิ่งของผลิตเพิ่มเข้ามามากมาย มูลค่าสิ่งของจึงลดลง เช่น นาฬิกาแบรนด์หรูมีอยู่แค่ 10 เรือน มูลค่าจึงสูงด้วยความหายาก แต่แล้วก็ถูกผลิตเพิ่มใหม่อีก 10 เรือน รวมเป็น 20 เรือน ทำให้หาซื้อนาฬิกาง่ายขึ้น มูลค่าก็ลดลงจากก่อนหน้านี้ ยิ่งผลิตมาก ของยิ่งหาง่าย มูลค่าก็ยิ่งลดลง

เหมือนการทำตลาดสินค้าแบบ Limited Edition ที่ยิ่งสินค้าออกมาสู่ท้องตลาดน้อย สินค้านั้นยิ่งหายาก ยิ่งมีมูลค่าต่อชิ้นสูง

ดังนั้นจาก Stock-to-Flow ของทองคำที่สูงกว่าโลหะอื่นจึงตอบได้ว่ากำลังการผลิตทองคำในแต่ละปียังน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณทองคำที่มีอยู่บนพื้นโลก จึงแทบไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณทองคำทั้งหมด ของที่มีอยู่ที่เรียกว่าหายากก็ยังหายากอยู่เหมือนเดิม ความสามารถในการเก็บมูลค่าของทองคำจึงแทบไม่ลดลง

ยิ่งกรณีทองแดงยิ่งชัดเจนเพราะกำลังผลิตแต่ละปีมากกว่าปริมาณทองแดงที่มีอยู่อย่างมาก และกลไกตลาดก็ไม่ช่วยให้ Stock-to-Flow ของทองแดงเพิ่มขึ้นได้ เพราะหากกำลังการผลิตลดลง Stock-to-Flow สูงขึ้น ราคาทองแดงสูงขึ้น เหมืองแร่ก็เร่งผลิตจนราคาลดลง Stock-to-Flow ก็ลดลงอีกครั้ง

คำถามต่อไปคือ ทำไมเหมืองทองคำถึงไม่เพิ่มกำลังการผลิตบ้าง?

ทำไมทองมีค่า และยังรักษามูลค่าไว้ได้ ?

คำตอบคือ “ผลิตเพิ่ม ต้นทุนเพิ่ม” เคล็ดลับการรักษามูลค่าของทองคำ

มากกว่านั้นทองคำเป็นโลหะที่เมื่อผลิตขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ถูกใช้แล้วหมดไป ยังเก็บรักษาคงรต่อไปได้ ดังนั้นทุกปีที่ถูกผลิตขึ้นมา ยิ่งทำให้ Stock เพิ่มขึ้น ช่วยให้ Stock-to-Flow รักษาระดับสูงได้อยู่ นอกจากนี้การผลิตก็ลำบากขึ้นทุกปี ต้องเจาะลงไปใต้ดินลึกขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น

ซึ่ง swissgoldsafe ก็ยืนยันว่าด้วยข้อจำกัดการทำเหมืองส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น เหมืองแร่จึงไม่เพิ่มกำลังการผลิต นอกจากนี้ถ้าทองคำถูกผลิตมาก ราคาทองคำก็ลดลง ผลรวมทั้งหมดทำให้ทั้งต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาก็ลดลง บรรดาบริษัทเหมืองแร่ทองคำจึงไม่เสี่ยงเพิ่มการผลิต เพราะสุดท้ายผลอาจย้อนกลับมาทำร้ายกันเองมากกว่าจะทำเงิน

ส่อง Stock-to-Flow ของ Bitcoin กันหน่อย

ปี 2020 Stock-to-Flow ของ Bitcoin อยู่ที่ 58 ต่ำกว่าทองคำเล็กน้อย แต่สูงกว่าแร่เงิน ซึ่งปี 2024 Bitcoin จะทำการ halving ลดการผลิต ทำให้ปี 2025 Stock-to-Flow ของ Bitcoin ไปที่ 121 สูงกว่าทองคำเกือบเท่าตัว ถ้าตอบในแง่ Stock-to-Flow สรุปได้ว่า Bitcoin มีโอกาสเป็นสินทรัพย์ที่ใช้รักษามูลค่าได้เหมือนอย่างที่ทองคำเป็นอยู่ แต่ Bitcoin ยังต้องพิสูจน์บทบาทนี้อีกยาวไกลทั้งในแง่ระบบ กฎเกณฑ์ควบคุม และความคุ้นเคย

พี่ทุยขอสรุปว่าทองคำมี Stock-to-Flow ที่สูงกว่าโลหะอื่น ทำให้รักษามูลค่าได้ดี ด้วยข้อจำกัดการทำเหมืองและกลไกตลาดยิ่งช่วยให้ Stock-to-Flow มีค่าสูง พี่ทุยอยากชวนคิดว่าเราจะใช้ Stock-to-Flow อธิบายคุณสมบัติของนาฬิกาแบรนด์หรูอย่าง Rolex ในการเก็บรักษามูลค่าเงินได้หรือไม่?

ข้อมูลจาก : moneybuffalo