บริหารสภาพคล่อง ยังไง ให้หมุนเงินทัน ไม่สะดุด

Posted by nor-arfah on January 13, 2023

ปัญหาที่ทำให้เหล่าผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางอย่าง SME ตกม้าตาย และทำให้กิจการต้องสะดุดมากที่สุดปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องของ “สภาพคล่อง” ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็มักจะถูกมองข้ามหรือละเลยไป วันนี้พี่ทุยพาทุกคนไปดูว่าจะทำอย่างไร ให้กิจการของเราสามารถ บริหารสภาพคล่อง ได้ง่าย ๆ แบบไม่มีสะดุด

บริหารสภาพคล่อง ทางการเงิน

โดยทั่วไปไม่ว่าจะกิจการใดก็ตาม ล้วนแต่จำเป็นต้องมีเงินสดสำรองไว้ใช้จ่ายในบริษัทเสมอก่อนที่จะได้รับเงินจากลูกค้า เช่น ค่าจ้าง ค่าต้นทุนหรือวัตถุดิบในการผลิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งแปลว่ากิจการต้องจ่ายเงินออกไปก่อนเพื่อให้สินค้าและบริการสามารถผลิตออกมาได้ โดยกิจการอาจจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ทันกับรายจ่าย เพราะส่วนใหญ่มักจะมีเครดิตเทอม (Credit Term) ดังนั้น หากกิจการไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีก็จะเจอกับปัญหาสภาพคล่องได้

การบริหารจัดการสภาพคล่องสมารถทำได้ ดังต่อไปนี้

1. การเข้าใจธรรมชาติของกิจการ ลดโอกาสขาดสภาพคล่องทางการเงิน

สำหรับกิจการไหนที่ไม่อยากเสี่ยงเจอกับปัญหาสภาพคล่อง ผู้ประกอบจำเป็นต้องเข้าใจ “ธรรมชาติของกิจการ” ว่าช่วงเวลาไหนบ้างที่เป็น Low Season และ High Season ของกิจการ

โดยเฉพาะช่วง High Season มักจะเป็นช่วงที่กิจการต้องผลิตสินค้าและบริการออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาแปลว่าก็จำเป็นจะต้องมีการเตรียมเงินสดสำรองสำหรับการผลิตเพิ่มด้วยเช่นกัน

เช่น กิจการผลิตเสื้อนักเรียนในช่วงหลังปิดเทอมใหม่ ที่มักจะเป็นช่วง High Season ของกิจการ ก็จะมียอดขายชุดนักเรียนทำให้ต้องผลิตชุดออกมาเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าก็จะเป็นช่วงที่กิจการต้องเพิ่มกำลังการผลิตทั้งค่าจ้างพนักงานที่ต้องทำงานล่วงเวลาหรือ OT ที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนค่าไฟฟ้า ต้นทุนค่าวัตถุดิบในการผลิตที่เยอะขึ้น

ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้มักจะเป็นรายจ่ายที่จ่ายออกไปค่อนข้างเร็ว แต่การขายให้กับลูกค้ามักจะมี Credit Term ที่ทำให้กว่าจะเก็บเงินได้ก็ใช้เวลาหลายวัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเวลา 30 – 90 วัน แต่รายจ่ายอย่างค่าจ้างพนักงานมักจะเป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายออกค่อนข้างเร็ว ซึ่งแปลว่ากิจการก็จำเป็นจะต้องมีการเตรียมเงินหมุนในเพียงพอต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้น

2. รู้จักวงจรเงินสด ช่วยกิจการประเมินเงินสดสำรองได้ดีขึ้น

เจ้าของกิจการจึงจำเป็นต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “วงจรเงินสด” หรือ Cash Conversion Cycle ของกิจการตัวเอง เพื่อให้รู้ว่าเราจำเป็นต้องสำรองเงินสดไว้อย่างไรและเท่าไหร่บ้าง

สำหรับวงจรเงินสดถ้าพูดแบบง่าย ๆ ก็คือ ตั้งแต่เริ่มผลิตสินค้าหรือบริการ กิจการใช้เวลากี่วันกว่าจะได้รับเงินกลับมา โดยมีหลักการคำนวณก็คือ

วงจรเงินสด = ระยะเวลาในการผลิตจนของถึงมือลูกค้า + ระยะเวลาเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ – ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินเจ้าหนี้

โดยทั่วไปถ้าหากมีค่าเป็นบวก แปลว่ากิจการจำเป็นต้องหาเงินมาสำรองไว้ตามระยะเวลา แต่ถ้าหากเป็นลบแปลว่ากิจการมีเงินสดเหลือ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะกิจการสามารถเอาเงินสดไปต่อยอดทำประโยชน์อย่างอื่นระหว่างทางได้

ตัวอย่างการคำนวณวงจรเงินสด

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น พี่ทุยอยากจะพาทุกคนมาคำนวณตามตัวอย่างนี้กัน

สมมติกิจการเดิมที่รับผลิตชุดนักเรียน มีการสั่งผ้ามาเพื่อผลิตมูลค่า 100,000 บาท โดยมี Credit Term 20 วัน จากนั้นใช้เวลา 3 วัน ผ้าจะถูกส่งมาที่โรงงาน และโรงงานใช้เวลา 7 วันในการผลิตชุดนักเรียน

จากนั้นเมื่อผลิตเสร็จ ก็ใช้เวลาอีก 5 วันเพื่อส่งของให้ถึงมือของลูกค้า โดยลูกค้ามี Credit Term อยู่ทั้งหมด 14 วันแปลว่า

  1. ระยะเวลาในการผลิตจนของถึงมือลูกค้าจะเท่ากับ 3 วัน + 7 วัน + 5 วัน = 15 วัน
  2. ระยะเวลาเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้จะเท่ากับ 14 วัน
  3. ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินเจ้าหนี้จะเท่ากับ 20 วัน

แปลว่าวงจรเงินสดของกิจการนี้จะเท่ากับ 15 + 14 – 20 = 9 วัน ซึ่งแปลว่ากิจการชุดนักเรียนนี้จะต้องหาเงินสดจำนวน 100,000 บาทจ่ายให้กับลูกค้าก่อนเป็นเวลา 9 วัน เพื่อให้กิจการดำเนินต่อได้โดยไม่สะดุด ก่อนที่จะได้รับเงินจากลูกค้า

3. ยิ่งมีอำนาจต่อรองมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับกิจการได้มากเท่านั้น

สำหรับกิจการที่วงจรเงินสดเป็นบวกมาก ๆ อาจจะทำให้ต้องสำรองเงินสดมากตามไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีที่จะสามารถช่วยให้วงจรเงินสดดีมากขึ้น ได้แก่

  1. เจรจาขอ Credit Term เพิ่มจากเจ้าหนี้ เพื่อให้จ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ช้าที่สุด ยิ่งนาน ยิ่งช่วยยืดระยะเวลาวงจรเงินสดได้ดี
  2. เจรจาลดระยะเวลา Credit Term จากลูกค้าเพื่อให้ได้รับเงินสดได้เร็วมากขึ้น ยิ่งลูกค้าจ่ายเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งลดระยะเวลาวงจรเงินสดได้ดี
  3. เร่งกระบวนการผลิตให้เร็วขึ้น ยิ่งผลิตเร็วขึ้นยิ่งลดระยะเวลาวงจรเงินสดได้เร็ว

เป็นยังไงบ้างสำหรับวิธีเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการที่พี่ทุยเอามาให้อ่านกันวันนี้ ลองเอาไปปรับใช้กับกิจการของตัวเองกันดูนะ พี่ทุยเชื่อว่าต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ไม่มาก็น้อย แน่นอนนนน

ข้อมูลจาก : moneybuffalo