ภาวะ "เงินเฟ้อ" ส่งผลกระทบกับใครอย่างไรบ้าง และเราจะรับมืออย่างไร?

Posted by nor-arfah on March 31, 2022

ปัญหาเรื่องปากท้อง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะ เมื่อเราต้องเจอกับภาวะ "เงินเฟ้อ" ที่ของกินของใช้มีราคาแพงขึ้น เช่น ในวันที่เราซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามด้วยเงิน 20 บาทไม่ได้แล้ว…วันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไม่ถึงร้อยละ 1 บาท หรือแม้แต่การที่เรากำเงิน 100 บาท ไปซื้อของที่ตลาด เราจะได้อะไรกลับมาบ้าง จากวันวานจนถึงวันนี้ เราเห็นได้ชัดว่า "ค่าของเงิน" เปลี่ยนไป ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร และเราในฐานะประชาชนทั่วไป จะวางแผนการเงินเพื่อรับมือกันกับสภาวะการณ์นี้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันที่นี่ค่ะ

"เงินเฟ้อ" คืออะไร และเกิดจากอะไร?

ภาวะเงินเฟ้อ คือ การที่ราคาสินค้า และบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากๆ จะส่งผลกระทบในเรื่องของ ฐานะ และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ คือ

  • การที่ประชาชนมีความต้องการซื้อสินค้า และบริการเพิ่มขึ้น ( Demand – Pull Inflation) โดยที่สินค้า และบริการนั้นๆ มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ขายมีการปรับราคาสินค้า และบริการให้สูงขึ้น
  • การมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost – Push Inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้า และบริการให้สูงขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง

ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ

สำหรับภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ รวมถึงผลกระทบต่อประเทศ โดยขอแจกแจง รายละเอียด ดังนี้

  • รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่ เพียงพอกับการยังชีพ
  • เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุน และการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
  • ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย

ประชาชนทั่วไปจะรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างไร?

วิธีการในการรับมือกับปัญหา "เงินเฟ้อ" สำหรับประชาชนทั่วไป คือ ควรมีการวางแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในสถานการณ์ที่เกิดหรือไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ควรมีการกระจายเงินออม และเงินลงทุนให้เหมาะสม โดยก่อนที่จะลงทุนอะไรก็ตามควรมีเงินสดสำรองเผื่อสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้ในระดับที่เหมาะสมด้วยนะคะ

ข้อมูลจาก : MoneyGuru