รู้ได้ยังไงว่าต้องใช้ “เงินเพื่อเกษียณ” เท่าไหร่ ?

Posted by nor-arfah on November 14, 2022

“เงินเพื่อเกษียณ” เป็นเรื่องที่พี่ทุยว่า สำคัญยิ่งกว่าสำคัญ แต่หลาย ๆ คนชอบมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น พี่ทุยบอกเลยไว้ตรงนี้เลยนะว่า “คนที่ไม่วางแผนเกษียณ จะไม่เคยได้เกษียณ” เลย อาจจะเป็นคำพูดที่ดูแรงไปหน่อย แต่เป็นเรื่องจริงนะ เพราะเราจะไม่รู้เลยว่า

เวลาจะเกษียณอายุจริง ๆ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ? แล้วที่เตรียมไว้พอมั้ย ?

สองคำถามนี้จะวนเวียนอยู่ในหัวเราตลอดเวลา ทำให้พอถึงเวลาจะเกษียณจริง ๆ จะไม่กล้าเกษียณตัวเองหน่ะสิ ทีนี่แย่เลย ต้องทำงานทั้งชีวิต ไม่มีเวลาใช้ชีวิตเลย

“เงินเพื่อเกษียณ” จึงเป็นเงินที่ทุกคนต้องมี เพราะเราไม่สามารถทำงานได้ตลอดชีวิต จะต้องมีวันที่เราหยุดทำงาน แต่รายจ่ายไม่ได้หยุดตาม

มาถึงตรงนี้สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นวางแผนเกษียณของตัวเองมาดูกันว่าเราจะเริ่มต้นวางแผนยังไงดีล่ะ ไม่ต้องกังวลไป พี่ทุยจะมาไขข้อสงสัยให้เอง เริ่มต้นด้วยการหยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาลุยกัน

1.ถ้าเราต้องเกษียณอายุคิดว่าเราต้องใช้ “เงินเพื่อเกษียณ” เดือนละกี่บาทแล้วนำมาคูณ 12 ไว้

เช่น พี่ทุยบอกว่าอยากใช้เงินเดือนละ 50,000 บาทตอนเกษียณอายุ แสดงว่าต่อปีพี่ทุยต้องใช้เงิน 600,000 บาท (50,000 x 12) ข้อนี้พี่ทุยก็ตอบ 600,000 บาท

คำแนะนำก็คืออย่าประเมินต่ำจนเกินไป วันเกษียณทุกวันคือวันหยุด มีโอกาสใช้เงินมากกว่าตอนทำงานสูงมาก

คำตอบข้อที่ 1 คือ 600,000 บาท

2.เอาอายุที่อยากเราตั้งใจจะเกษียณ ลบด้วย อายุปัจจุบัน ลบ หนึ่ง

เช่น พี่ทุยตอนนี้อายุ 25 ปี อยากเกษียณตอนอายุ 50 ปี พี่ทุยก็ตอบ 50 – 25 – 1 เท่ากับ 24 ปี จะเท่ากับ จำนวนปีที่เหลือก่อนที่เราจะเกษียณ

คำตอบข้อนี้คือ 24 ปี

3.เราจะมีอายุไปถึงกี่ปี เอา 80 ลบด้วยอายุที่เกษียณ

จากสถิติอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 ปี พี่ทุยแนะนำให้คิดว่าเราจะมีอายุไปถึง 80 ละกันเน๊าะ

ข้อนี้พี่ทุยตอบ 80 – 50 = 30 ปี

ข้อแรก เท่ากับ 600,000 บาท ข้อ 2 เท่ากับ 24 ปี ข้อ 3 เท่ากับ 30 ปี

มาถึงส่วนสำคัญแล้วห้ามมองข้ามอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เงินเฟ้อ มาดูที่ตารางเงินเฟ้อกัน พี่ทุยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 4% นะ พี่ทุยใช้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 4% ไว้นะเผื่อไว้ดีกว่าขาด

ดูเลขในข้อ 2 ของพี่ทุยเท่ากับ “24” แล้วไปเลือกเลขในตารางเงินเฟ้อจะได้ค่า “2.56” จากนั้นนำมาคูณกับเลขในข้อ 1 ของพี่ทุยก็ 600,000 x 2.56 = 1,536,000 บาท

เงิน 600,000 บาทในวันนี้เมื่อบวกเงินเฟ้อเข้าไปในวันที่เราเกษียณจะเป็นเงิน 1,536,000 บาท อันนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี เมื่อวันที่เราเกษียณอายุ จากนั้นนำเลข 1,536,000 บาทไปคูณกับเลขในข้อ 3

มาถึงตรงนี้ พี่ทุยเตือนก่อนเลยว่าห้ามช็อค…. !!

ตัวเลขที่ออกมาคือ “46,080,000 บาท”

นี่คือกองทุนเกษียณอายุที่พี่ทุยควรมี ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เราต้องการใช้เยอะมั้ย ? เกษียณยิ่งเร็วยิ่งต้องมีเงินก้อนนี้เยอะนั่นเอง

แล้วเคยคิดกันบ้างมั้ยว่า “การเกษียณอายุ” ต้องใช้เงินมากขนาดนี้ แล้วรู้มั้ยว่า ทำอย่างไรถึงได้เงินจำนวนนี้มา นั่นแหละเป็นเหตุว่าทำไมเราต้อง “วางแผนเกษียณอายุ” บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องคิดให้ยากเย็นด้วย ก็ถ้าเราอยากได้รายได้เดือนละ 50,000 บาท ปีละ 600,000 บาทเนี้ยไม่เห็นยากเลย ก็ใช้เงินแค่ 6,000,000 บาท แล้วหาแหล่งเงินปันผลปีละ 10% ต่อปี ก็ได้ละปี 600,000 บาท พี่ทุยอย่ามาเว่อร์

คือจะคิดแบบนั้นก็ไม่ผิดนะ ถ้าเป็นวัยเพิ่มเริ่มทำงาน หรือยังไม่ใกล้เกษียณ เพราะเมื่อการลงทุนเกิดผิดพลาดขึ้นมา เรายังมีโอกาสแก้ตัวได้อยู่ แต่ในวัยเกษียณ เงินลงทุนเราไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ ผลตอบแทน 10% ความเสี่ยงต้องสูงระดับหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้าเงินต้นเราหายไป หรือขาดทุนอย่างหนัก หมายความว่าเราอาจจะไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการเกษียณอายุเลยนะ..

ดังนั้น การลงทุนหลังวัยเกษียณควรลงทุนที่เสี่ยงน้อย แล้วทยอยนำเงินออกมาใช้จะดีกว่านะ พี่ทุยแนะนำว่าลงทุนเอาให้เท่ากับ หรือ ชนะเงินเฟ้อนิดหน่อยก็ถือว่าโอเคแล้วล่ะ

แล้วเราจะสามารถมีเงินเก็บเท่านี้ได้จริงๆหรือ ? คำตอบคือพี่ทุยก็ไม่รู้..

บางคนตอนนี้เงินเดือน 15,000 บาทแต่บอกว่าหลังเกษียณอยากมีเงินใช้เดือนละ 100,000 บาท พี่ทุยว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนงาน หรือขยันหารายได้เพิ่ม ไม่งั้นเป้าหมายนี้ก็ดูจะเพ้อเจ้อเกินไปหน่อย ถ้าเป้าหมายเราใหญ่เราต้องพยายามมากขึ้นด้วย หรือไม่ก็ตั้งเป้าให้ดูความเป็นจริงมากขึ้น แต่พี่ทุยบอกเลยว่าถ้าเราวางแผนยิ่งเร็วโอกาสที่จะสำเร็จก็จะยิ่งมีมากขึ้น

แล้วอย่าลืมว่าเกษียณเป็นเพียงเป้าหมายนึงในชีวิตของเราเท่านั้นเองนะ ในชีวิตจริงยังมีแผนการเงินอื่นๆที่เราต้องมีอีกหลายแผนอยู่เหมือนกัน อย่าเพิ่งตกใจกับตัวเลข ลองวางแผนแล้วนั่งคิดแบบสมเหตุสมผล พี่ทุยเชื่อว่ามีทางออกทุกคนแน่นอน

ข้อมูลจาก : moneybuffalo