ภาษีที่เราจ่ายกันทุกปี รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายของรายการรายได้ต่าง ๆ นานา ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันในชีวิตประจำวันนั้น ถูกส่งไปใช้ประโยชน์ที่ไหนบ้าง แล้วเราได้รับกลับมาในรูปแบบไหน วันนี้พี่ทุยพาไปหาคำตอบว่า จ่ายภาษีแล้วไปไหนบ้าง ไปฟังกัน
ภาษี คืออะไร ?
ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนำไปใช้สนับสนุน พัฒนาและเยียวยาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีจากประชาชน และนำส่งให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน ได้แก่ “กระทรวงการคลัง”
ใครต้องเป็นคนเสียภาษี และเสียภาษีอย่างไร ?
บุคคลที่ต้องเสียภาษีอย่างน้อยจะต้อง “มีรายได้มากกว่า 310,000 บาทต่อปี” เพราะ หากหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท และหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท เงินได้สุทธิหลังหักรายการต่างจะมากกว่า 150,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายการเสียภาษีที่ฐานภาษี 5% ซึ่งไทยมีฐานการเสียภาษีแบบขั้นบันได
อีกทั้งการยื่นแบบและชำระภาษีปี 2564 เป็นการคิดรายได้ในปี 2564 ทั้งปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2564 โดยสามารถยื่นได้ในปี 2565 แบ่งเป็น 2 แบบ
- การยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร ยื่นได้ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2565 เป็นวันสุดท้าย
- การยื่นเอกสารเสียภาษีแบบกระดาษ ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565 เป็นวันสุดท้าย
รายได้รัฐบาลมาจากไหนบ้าง ?
อ้างอิงจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2565 จะมีการประมาณการงบประมาณที่จะจัดเก็บภาษีได้ในปี 2565 ดังนี้
- กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรสแตมป์ มูลค่าประมาณ 1.87 ล้านล้านบาท
- กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีจากสินค้าและบริการมีลักษณะฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากภาครัฐ หรือเป็นสินค้าที่บริโภคแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพ หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มูลค่าประมาณ 5.97 แสนล้านบาท
- กรมศุลกากร จัดเก็บภาษีศุลกากร จากการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาษีอากรขาเข้า-ขาออก มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท
- รัฐพาณิชย์ หรือ รัฐวิสาหกิจ มูลค่าประมาณ 1.42 แสนล้านบาท
- ส่วนราชการอื่น มูลค่าประมาณ 1.69 แสนล้านบาท
จากนั้นนำไปหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น
- การคืนภาษีของกรมสรรพากร
- อากรถอนคืนกรมศุลกากร
- การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด
- การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จะคงเหลือรายได้สุทธิ 2.4 ล้านบาท แต่ตามโครงสร้างแล้ว ตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ฉะนั้นจึงต้องกู้หนี้สาธารณะเพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท นั่นเอง
จ่ายภาษีแล้วไปไหนบ้าง… สำรวจโครงสร้างรายจ่ายของรัฐ ปี 2565
เมื่อเราได้รายรับที่เพียงต่อรายจ่าย จากการนำรายได้ มารวมกับการกู้แล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่ารายจ่ายตามงบประมาณปี 2565 เมื่อแยกตามด้านต่าง ๆ แล้วจะมีอะไรบ้าง
โครงสร้างรายจ่าย ปี 2565 หากแบ่งตามกรอบยุทธศาสตร์ สามารถแยกได้ดังนี้
- ความมั่นคง 3.83 แสนล้านบาท คิดเป็น 12.4%
- การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 23.6%
- การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.32 แสนล้านบาท คิดเป็น 10.7%
- การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.19 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.9%
- การพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.45 แสนล้านบาท 17.6%
- การปรับสมดุลและพัฒนา ระบบการบริหาร จัดการภาครัฐ 5.58 แสนล้านบาท 18.0%
- รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 4.29 แสนล้านบาท คิดเป็น 13.8%
หรือ หากแบ่งตามอันดับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเยอะที่สุด สามารถแยกได้ ดังนี้
- ศึกษาธิการ ได้รับ 3.30 แสนล้านบาท
- มหาดไทย ได้รับ 3.15 แสนล้านบาท
- การคลัง ได้รับ 2.73 แสนล้านบาท
- กลาโหม ได้รับ 1.99 แสนล้านบาท
- คมนาคม ได้รับ 1.73 แสนล้านบาท
ประชาชนได้อะไรจากการใช้งบประมาณ
เมื่อเรารู้แล้วว่างบประมาณต่าง ๆ กระจายไปกระทรวงไหนมากที่สุดหรือค่าใช้จ่ายด้านไหนมากที่สุด แล้วงบประมาณเหล่านั้นกลับมาหาประชาชนในรูปแบบไหน
พี่ทุยจะมายกตัวอย่างให้ดูว่าโครงการต่าง ๆ ที่เราคุ้นชื่อ หรืออาจจะเคยได้ยินให้ฟังกัน ว่าโครงการเหล่านี้แหละมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น โดยจะแบ่งแยกตามหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
สามารถแบ่งเป็นได้เป็นหลายด้าน ดังนี้
- การแพทย์และสาธารณสุข เช่น การจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการระบาดโควิด-19 เช่น การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องแลป, การป้องกันและควบคุมโรค, การเตรียมความพร้อมด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา และการกักตัวผู้มีความเสี่ยง ในการติดเชื้อโควิด-19 รวมไปถึงการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากการระบาด
- การช่วยเหลือและชดเชยให้กับภาคประชาชน โดยเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้, โครงการเราชนะ, การลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า, การช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ม.33 เรารักกัน, เงินช่วยเหลือเกษตรกร และ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
2. ด้านสังคม
สามารถแบ่งเป็นได้เป็นหลายด้าน ดังนี้
- การสาธารณสุข เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ระบบประกันสังคม, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, คลินิกออนไลน์ (Telemedicine), ระบบปรึกษาทางไกล (Tele – Consult), การกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท, การพัฒนา Platform สุขภาพดีวิถีไทย สร้างไทย สร้างชาติ เป็นต้น
- การศึกษา เช่น ยุทธศาสตร์ ม.ราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น, บัณฑิตพันธุ์ใหม่และอาชีวะพันธุ์ใหม่, การพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ, การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล, โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, การศึกษาทางไกล เป็นต้น
- การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เช่น การสนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น, การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ และ การสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิด เป็นต้น
3. ด้านเศรษฐกิจ
สามารถแบ่งเป็นได้เป็นหลายด้าน ดังนี้
- การคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เช่น การก่อสร้างทางเพื่อแก้ปัญหาจราจรใน กทม. และเมืองหลัก, การก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (กทม. – นครราชสีมา), โครงการพัฒนาและปรับปรุงทาง/สะพานเพื่อสนับสนุนรถไฟทางคู่ 42.11 กม. เป็นต้น
- การท่องเที่ยว เช่น โครงการเสริมชายหาดป้องกันการกัดเซาะ 2 แห่ง ใน จ. เพชรบุรี และพังงา, โครงการสนับสนุน Startup ในการสร้างสรรค์สินค้าชุมชน 100 ชุมชน, โครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทและพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว, การจัดงาน Mega Event 4 งาน เช่น งาน World Music Festival, การแข่งขันวิ่งมาราธอน ฯลฯ, การส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วง Low Season เช่น จัดเทศกาลเที่ยวเมืองไทย สนับสนุนการจัดงานประเพณีตามภูมิภาค เป็นต้น
- การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาด้านต่าง ๆ ของ EEC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ EEC ส่งผลให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้น และมีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและสังคมกับนานาประเทศ เช่น ก่อสร้างทางหลวงระยะทาง 112.19 กม., การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (Aripolis), การก่อสร้างศูนย์การแพทย์ครบวงจรและโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทาง เป็นต้น
- การพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เช่น การส่งเสริม SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน, การส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีช่องทางการค้าผ่าน e – Commerce, การจัดงาน Startup x Innovation Thailand Expo (SITE) เพื่อให้ความรู้ด้านธุรกิจแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน
- เกษตร เช่น รวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่, การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer), การเข้าถึงแหล่งทุนและแก้ไขปัญหาที่ดิน ทำกินของเกษตรกร, โครงการเมล็ดพันธุ์ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานเพื่อออกใบรับรอง, การตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง, เกษตรกรได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต, อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, เทคโนโลยีดิจิทัล, อาหาร, ชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร, การพัฒนางานบริการตรวจสอบสมรรถนะหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์, ศูนย์ทดสอบอากาศยานและดาวเทียม และการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านอุปกรณ์ประมวลผลด้านสุขภาพแบบสวมใส่ (Wearable Devices)
4. ด้านสิ่งแวดล้อม
สามารถแบ่งเป็นได้เป็นหลายด้าน ดังนี้
- การบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ เช่น การจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค-บริโภค, การจัดการน้ำภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม, แก้ปัญหาน้ำท่วม, การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้รับการฟื้นฟู, การจัดการนำ้เสีย, การเพิ่มพื้นที่ป่า และการป้องกันการพังทลายของดิน เป็นต้น
- เรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการการแก้ปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชนิดต่าง ๆ , การจัดการปริมาณก๊าซเรือนกระจกลดลงจากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี และการหยุดเผา, การป้องกันการเผาในที่โล่ง ไฟป่า และลดหมอกควัน, ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และการลดปริมาณฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ เป็นต้น
5. ด้านความมั่นคง
สามารถแบ่งเป็นได้เป็นหลายด้าน ดังนี้
- การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เช่น การจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษและเสริมกำลังกองทัพ เพื่อลดการสูญเสียจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่ จชต. และโครงการสร้างความเข้มแข็งเพื่อรักษาความสงบ เรียบร้อยระดับตำบล เป็นต้น
- การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เช่น การปราบปรามยาเสพติด บำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด, การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, การส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน, การส่งเสริมให้มีกลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติด, การสืบสวนและขยายผลยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด เป็นต้น
สรุปแล้ว จ่ายภาษีแล้วไปไหนบ้าง
จะเห็นได้ว่าเงินภาษีจากเรากลายไปเป็นสวัสดิการ และนโยบายต่าง ๆ มากมายที่มีประโยชน์และเอื้อต่อการใช้ชีวิตของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม ไมว่าจะเป็น การอุดหนุนรายได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง การยกระดับสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่สงบ และการช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักของชาติ
นั่นจึงเป็นหน้าที่รัฐ ที่จะต้องนำเงินกองกลาง หรือ ภาษี ไปลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับชีวิตคนในสังคม และทำให้ทุกคนในประเทศสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
ซึ่งเมื่อดูจากโครงการทั้งหมดที่พี่ทุยเพียงแค่ยกตัวอย่างมาแล้วนั้น หากไทยสามารถบรรลุโครงการเหล่านี้ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ พี่ทุยเชื่อว่าไทยจะน่าอยู่ ฟื้นฟูตัวเองได้จากสถานการณ์โรคโควิด-19 และทำให้ประเทศพัฒนาไปได้อีกขั้นหนึ่งเลยทีเดียว
ข้อมูลจาก : moneybuffalo