เมื่อไทย “ขึ้นดอกเบี้ย” คนมีหนี้ “เงินกู้” คนกำลังจะกู้ กระทบอะไรบ้าง ?

Posted by nor-arfah on December 10, 2022

หลังจากที่อยู่ในโลกของดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดินมาอย่างเนิ่นนาน ในที่สุด กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ของไทยก็ได้ “ขึ้นดอกเบี้ย” ครั้งที่สองในรอบปี 2565 จาก 0.75% เป็น 1.0% ต่อปี แล้วไทยในยุคดอกเบี้ยขึ้นแบบนี้ คนมี “เงินกู้” อยู่จะกระทบอย่างไร แล้วมีผลกระทบอะไรที่เราควรรู้บ้าง

สถานการณ์โลกและไทยปัจจุบัน

เรียกได้ว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเจออย่างหนักเลยในขณะนี้ เพราะปี 2565 FED ขึ้นดอกเบี้ยไปหลายรอบเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้หลาย ๆ ประเทศต่างเริ่มตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตาม ๆ กัน ไทยเองก็เป็นประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้นไปเกิน 7% สามเดือนติดเลยทีเดียว

ถึงแม้สาเหตุจะมาจาก Cost-Push เป็นหลักจากค่าขนส่งและพลังงานก็ตาม แต่ก็เริ่มมีสัญญาณ Demand-Pull ตามขึ้นมาแล้ว บวกกับแผนการเปิดเมืองที่จะเป็นตัวเร่งเศรษฐกิจของไทย ที่จะผลักให้กำลังซื้อกลับมา ทำให้ในที่ประชุม กนง. เริ่มมีเสียงที่ไม่ตรงกันและอาจเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกภายในปีนี้

ถ้าหากไทยเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นสิ่งนึงที่หลายๆคนจะได้รับผลกระทบเลยคือ ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยนั้นมีความเสี่ยงที่สูงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงถึง 89.3% ใน Q3/2565 เท่ากับคนเกือบทั้งประเทศจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น กำลังซื้อลดลง

ด้วยเหตุนี้ ช่วงต้นปี กนง.จึงยังคงตรึงดอกเบี้ยไทยไว้ก่อน เพื่อให้ไปกระทบภาคลงทุน หนี้ครัวเรือนไทยที่สูงมาก อีกทั้งการปรับดอกเบี้ยขึ้นนั้นมีจำกัด การคงดอกเบี้ยไว้ก็เท่ากับว่าเรายังมียาดีเหลือไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน แต่หลังจาก FED ขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว ทำเงินบาทไทยอ่อนหนัก 38 บาท/ดอลลาร์ ไทยจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อสกัดเงินทุนไหลออก ป้องกันค่าเงินทรุดหนักกว่านี้

สำหรับใครที่รู้ตัวว่าตัวเองมีหนี้เยอะ ก็อาจจะต้องเริ่มทำการบ้านกัน ตรวจสอบกันหน่อยว่าาหนี้ของเรามีที่ไหนบ้าง และหนี้แต่ละตัวนั้นมีวิธีคิดดอกเบี้ยแบบไหน เป็นแบบคงที่หรือลอยตัว เพราะผลกระทบของทั้งสองแบบนั้นไม่เหมือนกัน

ดอกเบี้ยคงที่ดอกเบี้ยลอยตัวคืออะไร?

ดอกเบี้ยนั้นจะมีการปรับตัวตลอดตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยอิงดอกเบี้ยจากกนง.เป็นหลัก โดยเวลาเรากู้เงินนั้นสถาบันการเงินหรือธนาคารจะมีการคิดดอกเบี้ยอยู่สองแบบคือ ดอกเบี้ยคงที่ และ ดอกเบี้ยลอยตัว

ดอกเบี้ยคงที่ – คือดอกเบี้ยที่กำหนดไว้คงที่ ไม่มีการปรับอัตราตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะเป็นดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้น เฉพาะช่วงเวลา หรือตลอดระยะเวลากู้ จะขึ้นอยู่ตามสัญญาและข้อเสนอของสถาบันการเงิน ข้อดีคือหากดอกเบี้ยตลาดมีการปรับตัวขึ้นเราจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกเท่าเดิมและง่ายต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายในอนาคต

ดอกเบี้ยแบบลอยตัว – คือดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นลงตามดอกเบี้ยตลาด โดยจะมี MLR MRR MOR เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการเปรียบเทียบ ข้อดีคือดอกเบี้ยมีความยืดหยุ่น หากดอกเบี้ยตลาดลดลง เราก็จะได้เสียดอกเบี้ยน้อยลงตามไปด้วย

ดังนั้นหากดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาขึ้น ใครที่มีหนี้เป็นดอกเบี้ยคงที่ก็จะโชคดีหน่อยเพราะแทบไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนใครที่มีหนี้แบบดอกเบี้ยลอยตัวก็ต้องเตรียมแผนรับมือกับค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยที่จะมากขึ้น

ไทย “ขึ้นดอกเบี้ย” กระทบ คนมี “เงินกู้” ขนาดไหน

สมมุติพี่ทุยกู้คอนโดมูลค่า 4,000,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 30 ปี พี่ทุยต้องจ่ายค่างวดอยู่ประมาณเดือนละ 16,900 บาท ต่อเดือน หากดอกเบี้ยคงที่ที่ 3% จนหมดสัญญาพี่ทุยผ่อนหมดพี่ทุยต้องจ่ายเงินทั้งหมด 6,084,000 บาท คิดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,084,000 บาท

หากตัวแปรทุกอย่างคงเดิมแต่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 1% ค่างวดต่อเดือนจะถูกเพิ่มขึ้นเป็น 19,100 บาทต่อเดือน และหากดอกเบี้ยเป็น 4% จนครบสัญญาพี่ทุยต้องจ่ายเงินไปทั้งหมด 6,876,000 บาท คิดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยคือ 2,876,000 บาท

เรียกว่าดอกเบี้ยขยับแค่ 1% จะมีภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวสูงเกือบ 800,000 บาท จากตัวอย่างนี้

ยิ่งไปกว่านั้น หากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 2 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 3% เป็น 6% ค่าใช้จ่ายโดยรวมจะสูงมาก สูงกว่ามูลค่าคอนโดกว่า 2 เท่า แถมผ่อนต่อเดือนสูงขึ้น 8,000 บาท เรียกได้ว่าผลกระทบจากดอกเบี้ยมีผลไม่น้อยเลย

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจและกลัวไป เพราะในความเป็นจริงแล้วดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวได้ทั้งขึ้นและลงเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งเรายังสามารถทำการ Refinance ให้ดอกเบี้ยเราถูกลงในทุก ๆ สามปีได้อีกด้วย

ดังนั้นในช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังปรับเป็นขาขึ้นแบบตอนนี้ เราก็ต้องวางแผนและเตรียมตัวกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งค่างวดและดอกเบี้ยของหนี้สินที่เรามี และ สินค้าในชีวิตประจำวันต่างที่อาจปรับตัวขึ้นจากเงินเฟ้อ

คนมี “เงินกู้” ทำอะไรได้บ้าง ในช่วงที่ “ขึ้นดอกเบี้ย”

ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้นมักจะมาพร้อมกันอัตราเงินเฟ้อที่สูง เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตและกำลังซื้อของคนมักจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าแม้ค่าใช้จ่ายต่างๆของเราจะเพิ่มขึ้น แต่โอกาสในทางธุรกิจต่างๆก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เพื่อเป็นการปรับตัวให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด การหาโอกาสสร้างรายได้เสริมหรือทำธุรกิจเพิ่มเติมก็จะช่วยให้เราไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป มีทางเลือกและความปลอดภัยไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากทางเดียว

ในด้านของคนเก็บเงินก็จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนบางประเภทและเงินฝากที่สูงขึ้นอีกด้วย ถ้าเราวางแผนและจัดการตัวเองให้ดี ก็จะสามารถเอาตัวรอดในช่วงเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป

ข้อมูลจาก : moneybuffalo