ทำไมไทยออก LTR Visa ข้อดี-ข้อเสีย เป็นยังไง

Posted by nor-arfah on November 07, 2022

แม้ว่าโรคโควิด-19 จะยังไม่หมดจากโลกไปเสียทีเดียว แต่หลายประเทศก็เริ่มจะเรียนรู้อยู่กับมัน ซึ่งกระทบต่อโฉมหน้าทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามด้วย หนึ่งในการปรับตัวนั้นก็คือการออก วีซ่าระยะยาว (LTR Visa) เพื่อแย่งชิงทรัพยากรแรงงานทักษะสูงและเหล่าผู้มั่งคั่งจากทั่วทุกมุมโลก

เพราะพี่ทุยเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวที่หลาย ๆ ประเทศ กำลังแก้ไขกฎหมายและระเบียบการเข้าเมือง (Visa) ของตนเอง เพื่อหวังจูงใจให้คนฐานะดีหรือคนเก่งย้ายเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

วันนี้พี่ทุยจึงขออาสาพาไปดูกันว่าแต่ละชาติมีแพคเกจการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและเหล่าผู้มั่งคั่งจากทั่วทุกมุมโลกอย่างไรบ้าง และไทยเรากำลังทำอะไรอยู่ และเราจะไปแข่งกับเขาได้ไหม

เหตุผลที่ต้องมีวีซ่าระยะยาว LTR Visa ขึ้นมา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Visa พิเศษชนิดนี้มีขึ้นมาทำไม

นั่นก็เพราะเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายประเทศได้รับความบอบช้ำทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้ต้องรีบควานหาแรงกระตุ้นเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ยิ่งเมื่อมาผนวกเข้ากับเทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work Form Anywhere) ทำให้การเข้าไปประจำที่ออฟฟิศเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

การเร่งออกแพคเกจดึงดูดทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยและคนเก่งจากที่ต่าง ๆ จึงเป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนที่หลายชาติแห่เข็นกันออกมาในขณะนี้ และที่เห็นชัดสุดก็คือในกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนของเรานี่เอง

One Pass ของสิงคโปร์

เริ่มจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่าง “สิงคโปร์” ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการมีทรัพยากรคนที่มีศักยภาพสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ด้วยการออกระเบียบการตรวจลงตรา (Visa) เข้าประเทศใหม่ โดยใช้ชื่อมาตรการใหม่นี้ว่า “Overseas Networks and Expertise pass (One Pass)”

โดยระเบียบใหม่ที่จะเริ่มใช้ในเดือน ม.ค. 2566 จะอนุญาตให้ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 21,500 ดอลลาร์ (ราว 7.9 แสนบาท) ต่อเดือน สามารถพักอยู่อาศัยในประเทศได้ 5 ปี และยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ในหลายบริษัทได้ในคราวเดียวกัน แถมยังอนุญาตให้คู่สมรสสามารถหางานทำได้

ซึ่งนับว่าเป็นการมิติใหม่ เพราะเราจะคุ้นเคยกับการให้สิทธิเฉพาะการทำงานเพียงบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น รวมถึงให้สิทธิคู่สมรสอยู่อาศัย จึงนับว่าสิงคโปร์กำลังเอาใจนักลงทุนและคนเก่งอย่างเต็มที่ เพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานอยู่ที่นี่จะเอื้อต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและโจทย์ของชีวิตคนในครอบครัว

PVIP ของมาเลเซีย

ขยับมาที่ “มาเลเซีย” ก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยล่าสุดเมื่อต้น ก.ย. 2565 ได้เปิดตัวโครงการ Premium Visa (PVIP) เพื่อเน้นดึงดูดเปิดรับบุคคลที่มีความมั่งคั่งจากทุกประเทศ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2565

ผู้สมัครเข้าโครงการ PVIP จะสามารถอยู่ในประเทศมาเลเซียได้สูงสุดถึง 20 ปี สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย หรือในเชิงพาณิชย์ได้หมด

ผู้ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 105,300 ดอลลาร์ (ราว 3.8 ล้านบาท) และต้องมีเงินในบัญชีเงินฝากในธนาคารของมาเลเซียอย่างน้อย 1 ล้านริงกิต (ราว 8 ล้านบาท) โดยได้รับอนุญาตให้ถอนได้เพียง 50% หลังจากได้วีซ่าแบบพิเศษนี้ไปแล้ว

ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลมาเลเซียดูจะไม่สนใจในประเด็นการยอมให้ต่างชาติเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน มากนัก เพราะมั่นใจว่าสามารถควบคุมดูแลได้ โดยตั้งใจให้จำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1% หรือ 30,000 คนของจำนวนประชากรมีอยู่ในปัจจุบันกว่า 32 ล้านคน

Second Home ของอินโดนีเซีย

ลงใต้มาที่อินโดนีเซียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของอาเซียนก็ไม่น้อยหน้าใคร เพราะล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ Second Home โดยให้สิทธิอยู่ยาวได้ถึง 10 ปี เพียงแต่ผู้ใช้สิทธิจะต้องมีเงินในบัญชีอย่างน้อย 1.3 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.8 ล้านบาท) ขึ้นไป

โครงการดังกล่าวเน้นให้ชาวต่างชาติมาอยู่อาศัยในเกาะบาหลีซึ่งมีชื่อเสียงด้านแหล่งท่องเที่ยว และหวังให้นักลงทุนเหล่านี้กระจายการลงทุนไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่าโครงการ Second Home นี้จะเริ่มประกาศใช้ในวันที่ 25 ธ.ค. 2565 นี้

CM2H ของกัมพูชา

ส่วนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่าง กัมพูชา ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2565 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศโครงการ Cambodia My Second Home (CM2H) เพื่อหวังดึงดูดเศรษฐี นักธุรกิจ และผู้มีฐานะดีจากทั่วโลกมาลงทุนและอยู่อาศัยในประเทศของตนเองเช่นกัน

วีซ่าจากโครงการ CM2H ให้สิทธิชาวต่างชาติอยู่อาศัยได้มากถึง 10 ปี แถมให้สิทธิยื่นขอสัญชาติได้อีก ถ้าอยู่มาจนเลย 5 ปีไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีบริการต่าง ๆ ให้ อาทิ การรับส่งจากสนามบิน และการเปิดบัญชีธนาคาร

ซึ่งผู้จะยื่นขอวีซ่าพิเศษนี้ได้จะต้องลงทุนในประเทศนี้ให้ได้อย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์ (ราว 3.7 ล้านบาท) ขึ้นไป และจะต้องเป็นการลงทุนในโครงการที่รัฐบาลอนุมัติแล้วด้วย

แล้ว LTR Visa ของไทยเราล่ะ ?

หันกลับมามองที่บ้านเรา ปัจจุบันทางรัฐบาลก็มีโครงการดึงดูดผู้มีรายได้สูงและแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติเช่นกันในโครงการ “Long – Term Resident Visa: LTR Visa” เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและยกระดับประเทศไปสู่การเติบโตบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565

โครงการ LTR Visa ให้สิทธิชาวต่างชาติพำนักอาศัยในประเทศได้สูงสุดถึง 10 ปี และสามารถใช้ช่องทางพิเศษ (Fast track) ในการเข้าและออกจากประเทศได้ รวมถึงปรับเกณฑ์การรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นปีละครั้งจากเดิมต้องรายงานตัวทุก 90 วัน

สำหรับชาวต่างชาติที่มีสิทธิยื่นขอ LTR Visa หลัก ๆ แล้วจะตัองมีรายได้ไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์ (ราว 2.96 ล้านบาท) ต่อปี

โดยหากเป็นกรณีใช้สิทธิผู้มีฐานะมั่งคั่งก็จะต้องมีทรัพย์สินมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 37 ล้านบาท) และลงทุนในไทยไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18.5 ล้านบาท) ด้วย แต่หากใช้สิทธิของการเป็นผู้เกษียณ เกณฑ์การบังคับลงทุนจะลดลงมาเหลือ 250,000 ดอลลาร์

และหากใช้สิทธิการเป็นแรงงานในสาขาที่ไทยขาดแคลนก็ไม่ต้องมีเกณฑ์บังคับลงทุนขั้นต่ำ ขอเพียงแต่แสดงคุณวุฒิการศึกษาที่ต้องจบปริญญาโทขึ้นไป

LTR Visa แข่งกับเพื่อนเขาได้ไหม ?

หากเทียบกับปอนด์ต่อปอนด์ในเรื่องแพคเกจดึงดูดเหล่าผู้มั่งคั่งและแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติแล้ว ไทยเราก็ไม่ได้ดูด้อยไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านเลยแม้แต่น้อย ยิ่งผนวกกับจุดแข็งด้านแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และการบริการทางการแพทย์ที่ครบครันแล้ว

ดังนั้น ไทยเราจึงยังคงเป็นที่แหล่งลงทุนและแหล่งที่พักอาศัยสำคัญของภูมิภาคในสายตาต่างชาติได้อยู่ สะท้อนได้จากผลสำรวจของเว็บไซต์ holidu.co.uk ประเทศอังกฤษ ที่บ่งชี้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานในปี 2022 ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ตก็ติดอยู่ใน Top 10 ของการจัดอันดับครั้งนี้ด้วย

แพกเกจดึงดูดผู้มั่งคั่งและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ

ไทย – Long – Term Resident Visa (LTR Visa) เริ่ม 1 ก.ย. 2565

  • พำนักอาศัยสูงสุด 10 ปี

  • Fast track เข้า/ออกประเทศ ณ สนามบิน

  • รายงานตัวกับ ตม. ปีละครั้ง เงื่อนไข :

  • มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์ต่อปี

  • มีทรัพย์สินรวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ และลงทุนในไทยไม่น้อยกว่า 5 แสนดอลลาร์

  • หากเป็นผู้เกษียณ กำหนดเกณฑ์เงินลงทุนในไทยที่ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ

  • ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ไทยต้องการไม่ต้องมีเงินลงทุน

สิงคโปร์ – Overseas Networks and Expertise pass (One Pass) เริ่ม 1 ม.ค. 2566

  • พำนักอาศัยสูงสุด 5 ปี

  • ดำรงตำแหน่งได้ในหลายบริษัทได้ในเวลาเดียวกัน

  • คู่สมรสสามารถหางานทำได้ เงื่อนไข :

  • มีรายได้มากกว่า 21,500 ดอลลาร์ต่อเดือน

มาเลเซีย – Premium Visa (PVIP) เริ่ม 1 ต.ค. 2565

  • พำนักอาศัยสูงสุด 20 ปี

  • ซื้อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย หรือเชิงพาณิชย์ได้ เงื่อนไข :

  • มีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 105,300 ดอลลาร์

  • lมีเงินฝากในบัญชีธนาคารของมาเลเซียอย่างน้อย 1 ล้านริงกิต และจะถอนใช้ได้ 50% หลังเข้าโครงการ PVIP ไปแล้ว

กัมพูชา – Cambodia My Second Home (CM2H) เริ่ม 22 ก.ค. 2565

  • พำนักอาศัยสูงสุด 10 ปี

  • ยื่นขอสัญชาติได้อีก ถ้าอยู่มาจนเลย 5 ปีไปแล้ว

  • บริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ อาทิ การรับส่งจากสนามบิน และการเปิดบัญชีธนาคาร เงื่อนไข :

  • ต้องลงทุนในประเทศนี้ให้ได้อย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์ โดยจะต้องเป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติ

อินโดนีเซีย – Second Home เริ่ม 25 ธ.ค. 2565

  • พำนักได้สูงสุด 10 ปี เงื่อนไข :

  • มีเงินในบัญชีอย่างน้อย 103,000 ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาจากเหล่าผู้มั่งคั่งและผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเกิดการกระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก หรือ ตามชุมชนต่าง ๆ ได้มากที่สุด

เพราะต้องไม่ลืมว่าการท่องเที่ยวและแหล่งธุรกิจของไทยมักกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่เมืองเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเอาเก็บไปนั่งคิดให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง

ผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่ต้องระวัง

นอกจากนี้ แม้ Visa ชนิดพิเศษนี้จะมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นยาเม็ดวิเศษที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินมาสู่เศรษฐกิจภายในของประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ให้พึงระวังไว้ว่ายาเม็ดวิเศษนี้ก็อาจนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำที่จะขยายตัวมากขึ้น

นั่นก็เป็นเพราะสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาดเดิมจะมีราคาแพงขึ้นทันที เนื่องจากการเข้ามาของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ในขณะที่คนธรรมดาทั่วไปในประเทศจะเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นยากขึ้น นับเป็นการซ้ำเติมคนเหล่านี้จากเดิมที่เข้าถึงยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านและที่ดิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต รวมไปถึงการรับบริการทางการแพทย์

ดังนั้นการใช้ Visa ชนิดนี้จึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและบริบททางสังคมอย่างระมัดระวัง เพราะแทนที่จะกลายเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่เข้ามาแทนที่

ข้อมูลจาก : moneybuffalo