ธุรกิจท่องเที่ยววุ่นเปิดประเทศ ปล่อยเสรีต่างชาติ-คุมเข้มคนไทย

Posted by nor-arfah on May 08, 2022

หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์สามารถเดินทางเข้าไทยได้แบบอิสรเสรี ส่งผลให้ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ

แห่ลงทะเบียน Thailand Pass

“ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า เดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการยกเลิก Test & Go พบว่า หลังเปิดให้ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ผ่านไป 7 วัน (29 เมษายน 2565-5 พฤษภาคม 2565) มีผู้เข้าลงทะเบียนจำนวน 235,083 คน หรือเฉลี่ยประมาณ 40,211 คนต่อวัน

โดยช่วง 4 วันแรก (1-4 พฤษภาคม 2565) มีผู้เดินทางเข้ามาทั้งหมดรวม 73,004 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 20,000 คน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ททท.ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 ว่า จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 300,000 คนต่อเดือน และเพิ่มเป็นเดือนละ 1 ล้านคนในช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2565

มาตรการรับต่างชาติลักลั่น

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจท่องเที่ยวให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากรายงานของ ททท.เห็นชัดเจนว่า ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต

จากแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนี้ ทำให้หลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเป็นกังวลในเรื่องมาตรการการควบคุมและรับมือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่รัฐบาลปล่อยฟรีโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งหากในอนาคตมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นจะยิ่งควบคุมยาก

ขณะเดียวกันมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ออกมานั้น ยังสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวสื่อสารออกไปทั่วโลกว่า นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์สามารถเดินทางเข้าไทยได้แบบอิสรเสรี

และเริ่มเห็นปรากฏการณ์ในวงกว้างแล้วว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

“ตอนนี้ในเมืองท่องเที่ยวหลักจะปรากฏภาพของนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่มีการตรวจ ATK ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯไปจนถึงเมืองท่องเที่ยวในต่างจังหวัด”

“พวกเราเห็นด้วยกับการเปิดประเทศ แต่ก็ต้องเปิดแบบที่ทำให้คนในประเทศสบายใจด้วย สิ่งที่พวกเราเป็นห่วงในวันนี้คือ หากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจำนวนมากขึ้น เกรงว่าสาธารณสุขเมืองไทยจะรับมือไม่ไหว และเกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอีกระลอก”

ตรวจเข้มผู้ประกอบการไทย

สอดรับกับผู้ประกอบการร้านอาหารรายหนึ่งที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวก็เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวและสับสนเช่นกัน เพราะวันนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขยังสั่งให้ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ปฏิบัติตามมาตรฐาน COVID free setting ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เข้าสังคมทุกกิจกรรมยังต้องตรวจ ATK

ในทางตรงกันข้ามกลับละเลยนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถเข้าใช้บริการโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ โดยไม่ต้องตรวจ ATK ผ่านเพียงด่านตรวจวัดอุณหูมิ ซึ่งใครก็รู้ว่าเครื่องตรวจดังกล่าวไม่มีมาตรฐาน

“สรุปว่ามาตรการด้านสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อนั้นบังคับใช้เฉพาะคนไทย ไม่ครอบคลุมนักท่องเที่ยวต่างชาติใช่หรือไม่ หรือคิดว่าต่างชาติที่ฉีดวัคซีนตามเกณฑ์แล้วไม่ติดเชื้อ”

ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พังงา รวมถึงกรุงเทพฯ พบว่า มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ใช้ชีวิตโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย เช่น เดินช็อปปิ้งริมถนนสุขุมวิท สีลม เยาวราช รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินตามชายหาดสำคัญ ๆ ของประเทศไทย

รูปจาก : thestandard

ย้ำคนไทยดูแลป้องกันตัวเอง

ด้าน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อเท็จจริง และเป็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หยุดเดินทางมานาน เมื่อมีโอกาสได้เดินทางอีกครั้งก็อยากปลดปล่อยเต็มที่ ที่สำคัญด้วยมาตรการทั่วโลกที่ไม่เหมือนกันทำให้สร้างการรับรู้ลำบาก

พร้อมย้อนความว่า ก่อนหน้านี้ สทท.ได้นำเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการ ATK & Go คือ ตรวจ professional ATK ก่อนเพื่อความสบายใจทั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยในประเทศ แต่สุดท้ายรัฐบาลเลือกที่จะปลอดล็อกทั้งหมด

“ชำนาญ” บอกด้วยว่า เมื่อมาตรการออกมาแบบนี้ในภาคของธุรกิจท่องเที่ยวทำอะไรไม่ได้ เพราะหน้าที่ด้านกำกับดูแลเป็นเรื่องของสาธารณสุข ภาคท่องเที่ยวมีหน้าที่ทำธุรกิจ และกำชับให้ผู้ให้บริการรักษามาตรฐานด้านสาธารณสุข ดูแล ระมัดระวัง ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด

ดังนั้น หากคิดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ปลอดภัยก็เลี่ยงเข้าใกล้ หรือหากอยากไปเที่ยวแต่กลัวนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ควรเลือกไปในพื้นที่ที่ไม่มีต่างชาติ ซึ่งจะยิ่งเป็นผลดี เพราะจะช่วยกระจายรายได้ด้านการท่องเที่ยว

กทม.เตรียมตั้งการ์ดสูง

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานครกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างวางวางแผนตั้งรับมาตรการเปิดประเทศโดยไม่ต้องตรวจหรือเชื้อโควิดของรัฐบาล โดยประสานงานกับทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมหารือและเน้นย้ำเรื่องการป้องกันเมือง การดูแลด้านอนามัย และป้องกันเหตุร้ายในอนาคต

ทั้งนี้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก บริหารจัดการและดูแลคนเข้า-ออกยาก หากเกิดการแพร่ระบาดซ้ำจะเกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขอนามัย จึงจำเป็นต้องระมัดระวังและบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด

“กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวง ในภาวะปกติมีนักทอ่งเที่ยวเข้ามาเยือนกว่า 20 ล้านคน จึงต้องเตรียมเครื่องมือในการกำกับดูแลเมืองที่ดี”

ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุม ศบศ. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ยังมีมติเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในกลุ่มจังหวัดอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ และพังงา) ที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยในหลักการ แต่ต้องทำให้ได้จริง

นอกจากนี้ ศบศ.ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีผู้ว่าการ ททท.เป็นกรรมการ

โดยเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยว สำหรับปีนี้ยังเป็น 160 ล้านคน/ครั้ง และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7-10 ล้านคน

คงต้องลุ้นกันอย่างหนักว่า มาตรการเปิดประเทศครั้งนี้จะขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย และสามารถประคับประคองให้ “เศรษฐกิจ” เดินหน้าควบคู่ไปกับการดูแลด้านสาธารณสุขตามเป้าหมายได้แค่ไหน

แหล่งข่าว : ประชาชาติธุรกิจ