ทำไมเงินบาทแข็งค่า แนวโน้มค่าเงินบาทปี 2566 จะเป็นอย่างไร ?

Posted by nor-arfah on February 15, 2023

เปิดปี 2566 ได้ไม่เท่าไหร่ แวดวงเศรษฐกิจและการเงินก็เจอเรื่องน่ากังวล คือ ทำไมเงินบาทแข็งค่า เพราะเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยเงินบาทปัจจุบันวิ่งอยู่ราว 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้นเดือน ก.พ. 2566 ก็เคยหลุดลงไปต่ำกว่า 33 ที่ 32.7-32.8 บาทต่อดอลลาร์ มาแล้ว

ทั้งนี้ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ และบางช่วงเมื่อปลายปีที่แล้วที่เคยขึ้นไปแตะเกือบ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็นับว่าเพียงเวลาไม่กี่เดือน เงินบาทพลิกจากอ่อนค่าเป็นแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จนทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี

และหากนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 5% จนกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แซงหน้ารูเปียอินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย รวมถึงวอนเกาหลีใต้ที่เคยเป็นสกุลเงินแข็งค่าที่สุดในเอเชียมาช่วงก่อนหน้านี้

ทำไมเงินบาทแข็งค่า มากที่สุดในเอเชีย

การเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2566 จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2566

วันนี้พี่ทุยจึงชวนทุกคนมาดูว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ารวดเร็วเช่นนี้ และแนวโน้มเงินบาทปี 2566 จะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงเราในฐานะประชาชนและนักลงทุนควรกังวลกับเหตุการณ์นี้หรือไม่?

วิเคราะห์ค่าเงินบาทวันนี้ ทำไมเงินบาทแข็งค่า 2566

พี่ทุยพาไปดูปัจจัยรอบด้านที่กดดันค่าเงินบาทอยู่

1. ดอลลาร์อ่อนค่าจากการลดการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

สาเหตุแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หากย้อนกลับไปในปี 2565 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ พบว่า เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าตลอดทั้งปี โดยมีบางช่วงของปลายปีที่แล้ว ค่าดัชนีฯ พุ่งเกิน 110 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ เป็นผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยทั้งปี 2565 แข็งค่ากว่า 8%

สิ่งสำคัญมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกอบกับความเสี่ยงทั่วโลกที่ปะทุขึ้นตลอดเวลา ทำให้เกิดแรงดึงดูดหรือความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐมีเพิ่มขึ้น กดดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปัจจุบันเริ่มลดลงไป จากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ค่อย ๆ ปรับลดลงจากจุดสูงสุดในเดือน มิ.ย. 2565 ที่ 9.1% มาอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบปีที่ 6.5% ในเดือน ธ.ค. 2565 จากราคาพลังงานและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ย่อตัวลงมา

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก (Fund Flow) เริ่มกระจายออกไปลงทุนนอกสหรัฐฯ มากขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐจึงเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลง และทำให้เงินบาทเทียบดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามในทิศทางแข็งค่านั่นเอง

2. เศรษฐกิจโลกไม่ได้น่ากลัวและการเปิดประเทศของจีน หนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก

เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มเติบโต 2.9% แม้ลดลงจากปีก่อนที่คาดว่าจะโต 3.4% แต่นับเป็นการปรับมุมมองที่ดีขึ้นครั้งอรกของ IMF นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน สิ่งดังกล่าวสะท้อนว่า ภาพเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่เคยดูอึมครึมเหมือนฝุ่น PM 2.5 เริ่มเบาบางลงแล้ว

ปัจจัยสำคัญเป็นเพราะ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังไม่พบความเสี่ยงหรือเหตุการณ์เลวร้ายเพิ่มเติมไปจากเดิม ประกอบกับสัญญาณการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกลงไปได้บ้าง ตลอดจนการเปิดประเทศและการปลดล็อกให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เพิ่มโมเมนตัมเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น

สิ่งเหล่านี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกทั้งลงทุนเพิ่มหรือกระจายเม็ดเงินไปหลายพื้นที่ทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย รวมถึงไทย

โดยข้อมูลของ Reuters ชี้ว่า นับตั้งแต่เปิดปี 2566 เป็นต้นมา มีเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรแล้วรวมกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียไม่รวมจีน (MSCI Emerging Markets ex China) ก็เพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบ 10% ผลักดันให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชีย และไทยทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย

3. เศรษฐกิจไทยโตสวนกระแสโลก เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลนั้นคือ แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ

หากกลับมาดูเศรษฐกิจไทยนับว่าสดใสขึ้นเป็นลำดับมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วที่ไทยเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้ทั้งปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าไทยรวมทั้งสิ้น 11 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ 10 ล้านคน และเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีเพียง 4 แสนคนถึง 2,500% เลยทีเดียว

ส่งผลให้ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกลับมาเปิดกิจการ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น แรงงานกลับมามีรายได้กันอีกครั้ง

ขณะที่การเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนเที่ยวบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับไทยคือหมุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ไทยได้รับผลบวกจากการเดินทางทั่วโลกและของชาวจีนในครั้งนี้ด้วย หลายฝ่ายจึงคาดกันว่า ปี 2566 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดตบเท้าเข้าไทยมากถึง 30 ล้านคนเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน การบริโภคภายในประเทศก็ฟื้นตัวมากขึ้นตามรายได้และบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่คึกคักมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ล่าสุดทาง IMF คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ถึง 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 2.9% รวมถึงโตสวนทางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียที่เติบโตลดลงจากปีก่อน อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

แนวโน้มที่สดใสเช่นนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เห็นได้จากปี 2565 ที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ (Net Buy) ตลาดหุ้นไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี มูลค่ารวมเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังซื้อสุทธิเพิ่มอีกเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในเดือน ม.ค. 2566 สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่างชาติ นำมาซึ่งความต้องการเงินบาทและผลักดันให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย

การซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2560 ถึง ม.ค. 2566

แนวโน้มเงินบาทปี 2566

หากสรุปสั้น ๆ ถึงสาเหตุว่าทำไมที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าเร็วและแข็งค่าที่สุดในเอเชีย นั่นเป็นเพราะ 1) เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า 2) จีนเปิดประเทศ และ 3) เศรษฐกิจไทยโตดี

ขณะเดียวกัน หากมองไปข้างหน้าตลอดทั้งปี 2566 ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นยังคงเป็นภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทิศทางเงินบาทปี 2566 เหล่าบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมีมุมมองว่าจะวิ่งอยู่กรอบ 32.0-33.0 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นจากปีที่แล้วเฉลี่ยราว 7%

ถึงตรงนี้ หลายคนพอจะเห็นภาพทิศทางค่าเงินบาทตลอดทั้งปี 2566 บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการแข็งค่าหรือการอ่อนค่าของค่าเงินมีปัจจัยเข้ามากระทบมหาศาลทั้งสิ่งที่เรารู้และพอคาดเดาได้ และสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้หรือประเมินเหตุการณ์ล่วงหน้าได้เลย

ฉะนั้น การคาดการณ์เงินบาทหรือเงินสกุลเงินอื่นก็ตาม พี่ทุยคิดว่าเปรียบเสมือน Black Swan ที่จะให้คาดได้อย่างถูกต้องยากมาก หรือบางครั้งก็ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ชัดเจน หากตอนนี้ใครกำลังได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้รับตลอดไป ดังนั้น การวางแผนทางการเงินและการลงทุน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เรารักษามูลค่าของเงินและรายได้ในอนาคต

ทำไมเงินบาทแข็งค่า ฉุดส่งออกลดลง? แบงก์ชาติคุมค่าเงินได้มั้ย?

เวลาที่ค่าเงินบาทขึ้นลงมาก ๆ ก็มักเห็นตามข่าวว่าผู้ส่งออกออกมาเรียกร้องกดดันให้ แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงิน บางรายถึงกับบอกว่าส่งออกไม่ได้แล้วก็มี

ต้องบอกก่อนว่า ภาวะการเงินในตลาดโลกค่อนข้างผันผวนเลยนะ แถมความมั่นคงยังไม่ค่อยมีอีกด้วย ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน อย่างปี 2565 ที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยพรวด ๆ แบบตกอกตกใจ แต่ฝั่งญี่ปุ่นกลับคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่ำมาก

พี่ทุยอยากจะให้ลองนึกภาพง่าย ๆ ว่า ดอกเบี้ยมันก็เหมือนกำไรของเงิน

  • ขึ้นดอกเบี้ยเงินก็ไหลเข้าประเทศ
  • ลดดอกเบี้ยเงินก็ไหลออกนอกประเทศ

พอแต่ละประเทศให้ไม่เหมือนกัน เงินมันก็เลยวิ่งไปวิ่งมา ตลาดการเงินมันก็เลยผันผวนนั่นเอง ทำให้ค่าเงินมันไม่มีทางจะคงที่ การจะควบคุมจึงเป็นไปได้ยาก และการเข้ามาแทรกแซงค่าเงินก็มีต้นทุน แถมประเทศไหนมีการแทรกแซงค่าเงินหนัก ๆ ก็จะโดนทั่วโลกจับตา และอาจโดนแบล็กลิสได้ อย่างเมื่อปีที่แล้ว 2022 ญี่ปุ่นก็ได้แทรกแซงค่าเงินเช่นกันจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าหนักมาก

มาถึงตอนนี้ พี่ทุยก็เห็นว่าที่บอกว่าส่งออกไม่ได้เลย เรียกร้องให้แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินหน่อย จริง ๆ แล้ว หน้าที่ของแบงก์ชาติ คือ ควบคุมให้มีเสถียรภาพหรือไม่ให้ผันผวนจนเกินไปเท่านั้น เวลาค่าเงินจะแข็งจะอ่อนให้ค่อย ๆ ปรับจะได้เตรียมรับมือกันทัน ไม่ได้มีหน้าที่กำหนดทิศทางอย่างที่หลายคนเข้าใจ ค่าเงินก็เป็นไปตามกลไกราคาการจะไปฝืนตลาดก็เหมือนการแทรกแซงตลาดอย่างรุนแรง

ส่วนประเด็นที่บอกว่า ค่าเงินบาทแข็งจึงทำให้ส่งออกไม่ได้ เพราะต่างชาติมองว่าของแพง วาทกรรมนี้ต้องบอกว่าไม่จริงเลย เนื่องจากว่า สกุลดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่เราใช้ชำระค่าสินค้ากันเกือบ 80% ของธุรกรรมทั้งหมด ทั้งที่เราค้าขายกับสหรัฐฯ ไม่ถึง 10% ด้วยซ้

หมายถึงว่า แม้เราจะขายค้ากับประเทศอื่น ๆ เราก็ตั้งราคาเป็นดอลลาร์อยู่ดี ไม่ได้ตั้งราคาเป็นบาท นั่นแปลว่าต่างชาติไม่ได้รับผลกระทบจากที่ค่าเงินบาทแข็งแล้วทำให้ซื้อของน้อยลง แต่ที่หลายคนคงยังออกมาบ่นเวลาค่าเงินบาทแข็ง ไม่ใช่เพราะขายออกไม่ได้ แต่เป็นเพราะเวลาขายของได้แล้ว แลกกลับมาเป็นรูปเงินบาทแล้วได้เงินน้อยลง

เพราะเวลาบริษัทพวกนี้แปลงกลับมาทีมูลค่าหายเป็นพันล้านบาทก็มี พอบริษัทพวกนี้กำไรหาย การจ้างงานและค่าจ้างแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ก็เลยทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอลงเหมือนกัน

ถ้างั้น ค่าเงินแข็ง ดีไหม ?

ตอนที่ค่าเงินแข็งก็ไม่ได้แย่เสมอไปหรอกนะ เพราะก็มีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์เหมือนกัน เช่น ผู้นำเข้าก็สามารถซื้อสินค้า ซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง อันนี้พี่ทุยว่าถูกลงแน่ ๆ เพราะเวลาไปซื้อจากต่างชาติยังไงเขาก็ตั้งราคาเป็นดอลลาร์ซะส่วนใหญ่ เราก็ใช้เงินบาทน้อยลงในการซื้อ รวมถึงคนทั่ว ๆ ไปด้วย เวลาจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หรือคนที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวจะได้ Pocket Money เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน หรือแม้กระทั่งบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการซื้อเครื่องจักรจากเมืองนอก พี่ทุยว่าจังหวะนี้แหละเป็นโอกาสอันดีเลยที่จะยกเครื่องโรงงานใหม่

ดังนั้นโดยสรุปพี่ทุยอยากจะบอกว่า ค่าเงินบาทที่แข็ง ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์โลกมันเป็นกลไกตลาดไม่สามารถฝืนได้นาน ๆ หรอก ในอดีตปี 2540 เราก็เคยแทรกแซงจนพังกันไม่เป็นท่ามาแล้ว ตอนนี้พี่ทุยว่าแค่ทำให้ไม่ผันผวนมากจนเกินไปก็ใช้ได้แล้วล่ะ

ข้อมูลจาก : moneybuffalo