ช่วงนี้มีข่าวที่คนมีรถต้องอัปเดตกันอยู่บ่อยครั้งที่เดียว ตั้งแต่เรื่องคาร์ซีท ความเร็วบนทางด่วน จนล่าสุดก็มีเรื่องคนนั่งเบาะหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัย เพราะภาครัฐมีการปรับปรุง พ.ร.บ.จราจรทางบก โดยในปี 2565 นี้ จะปรับคนขับและผู้โดยสารที่นั่งรถแล้วไม่คาดเข็มชัดนิรภัย ไม่ว่าจะเป็นนั่งแถวตอนหน้า หรือนั่งแถวตอนอื่น มี "ค่าปรับ" อยู่ที่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่างจากกฎหมายเดิมที่ปรับเฉพาะคนขับและผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าเท่านั้น
เรียกว่ามีรถไว้ขับสักคัน ถ้าไม่อยากเสียตังค์ไปกับการทำผิดกฎจราจร ก็ต้องตามอัปเดตกันให้ทันวันนี้พี่ทุยก็เลยอยากจะหยิบเอาเรื่องราวของโทษปรับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับคนใช้รถยนต์ส่วนตัวมาฝาก จะได้รู้ว่ามีอะไรบ้างนะที่เราต้องระวัง เพราะทำผิดแล้วอาจจะเสียตังค์ในกระเป๋าได้
พี่ทุยขอออกตัวก่อนว่า ค่าปรับที่หยิบยกมาบอกกล่าวนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น ที่ทำให้คนใช้รถทุกคนได้เห็นภาพกันชัด ๆ เท่านั้น และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับรถนั้นก็มีการปรับปรุงอยู่เสมอ ดังนั้น ค่าปรับในอนาคตก็อาจจะเปลี่ยนไป หรือกรณีที่ต้องเสียค่าปรับ ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม เหมือนเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัยก็ได้
จริง ๆ แล้ว ถ้าใครขับรถดี มีมารยาท และปฏิบัติตามกฎจราจรทุกกระเบียดนิ้ว ก็สบายหายห่วง ต่อให้ขึ้นค่าปรับแค่ไหน หรืออัปเดตกฎเกณฑ์อะไรมาเพิ่ม เงินในกระเป๋าก็ไม่กระเด็นอยู่แล้ว
แต่สำหรับใครที่มักจะเผลอขับรถผิดกฎจราจรอยู่บ่อยครั้ง ก็ขอให้ดูค่าปรับเหล่านี้เอาไว้ เพราะวันหนึ่งคุณอาจจะต้องจ่ายเงินไปกับค่าความผิดที่ทำ
เรามองว่า สำหรับโทษปรับบางเรื่องที่ออกมา ก็อาจจะทำให้คนใช้รถไม่ปลื้มสักเท่าไหร่ อย่างเช่นเรื่องที่บังคับให้เด็กต้องนั่งคาร์ซีท หรือบังคับให้คนที่นั่งเบาะหลังของรถต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย เหมือนคนที่นั่งเบาะหน้า เพราะที่ผ่านมาคนใช้รถจำนวนมากก็ไม่ได้ทำเรื่องเหล่านี้ และการปฏิบัติตามเรื่องนี้ก็ทำให้คนใช้รถมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
หรือความไม่คุ้นชิน อย่างเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย ที่ช่วยลดความเสี่ยงเวลาเกิดอุบัติเหตุ แต่หลายคนกลับมองข้ามไป เพราะคิดว่า ไปใกล้ ๆ แค่นี้เอง ไม่ต้องรัดเข็มขัดก็ได้ หรือรถยนต์ไม่มีระบบส่งเสียงเตือนให้รัดเข็มขัด ก็เลยไม่ได้ใส่ใจจะทำ หรือรู้สึกอึดอัดที่ต้องรัดเข็มขัดเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง เราก็จะพบว่า หากไม่มีการบังคับ หรือมีโทษปรับออกมา แต่ถ้าเราปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้เอง โดยไม่ต้องมีค่าปรับมาเป็นแรงกดดัน ผู้ที่ได้ประโยชน์จริงๆ จากการปฏิบัติตามนี้ ก็คือ ตัวคนใช้รถอย่างเราเอง เพราะทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราปลอดภัยมากขึ้นกับการใช้รถใช้ถนน
และถ้าไปดูในต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องการบังคับให้รัดเข็มขัดนิรภัย เทียบกับไทยนั้น ก็ต้องบอกว่า บางประเทศก็บังคับให้คนที่นั่งรถที่มีที่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่ว่าจะนั่งอยู่แถวตอนใด ก็ต้องรัดเข็มขัด รวมถึงบังคับให้เด็กนั่งบนคาร์ซีท เหมือนเช่นที่กฎหมายไทย เพิ่งจะบังคับใช้ตามประเทศอื่นๆไป อย่างเช่น อังกฤษ เป็นต้น
เอาเป็นว่า อะไรที่ทำแล้ว ดีกับตัวเอง ช่วยให้ตัวเองปลอดภัยมากขึ้น เมื่ออยู่บนท้องถนน ก็ทำไปดีกว่า ดีกว่าไม่ทำ แล้วพอเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา แล้วบอกว่า "รู้งี้ ทำดีกว่า"
บทความจาก : moneybuffalo