“ประเทศไทย” คืออันดับต้น ๆ ด้านความเหลื่อมล้ำ หลาย ๆ คนน่าจะทราบข้อเท็จจริงกันเป็นอย่างดีอยู่เเล้วว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างมาก ยิ่งเป็นช่องว่างระหว่าง ชนชั้นกลาง และ คนรวย ยังมีแนวโน้มสูงมากขึ้นกว่าประเทศอื่น ๆ อีก
โดยธนาคารโลกได้เปิดเผยตัวเลขเมื่อปี พ.ศ. 2565 ว่า ประเทศไทยนั้นมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันของรายได้เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 1% แรกมีสัดส่วนในรายได้ประชาชาติถึง 21% ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของ 5 กลุ่มล่างสุดนั้นมีสัดส่วนเพียง 14% เท่านั้น
ซึ่งจากกระแสการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ก็ทำให้เราได้เห็นว่ามีหลาย ๆ พรรคเริ่มออกนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหานี้
อย่างพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ออกมาเสนอนโยบาย “ยกเว้น” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยช่วยทำให้ผู้ที่มีรายได้สุทธิช่วงฐาน 150,001 – 300,000 บาท ที่ปกติต้องเสียภาษีร้อยละ 5 หรือประมาณ 7,500 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนบุคคลที่มีรายได้เกินกว่านั้น ก็จะประหยัดภาษีลงไปคนละ 7,500 บาทเช่นกัน
และเชื่อว่าเดี๋ยวเราน่าจะได้เห็นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของภาษีจากพรรคอื่น ๆ ออกมาเพิ่มเติมกันอีก วันนี้ก็เลยอยากชวนมาพูดคุยถึงเรื่อง “โครงสร้างภาษี” ให้เข้าใจกันยิ่งขึ้นว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวและน่าติดตามอย่างไร
เชื่อกันหรือไม่ว่าเวลานี้ โดยไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ชนชั้นกลาง” มีอัตราการจ่ายภาษีที่มากกว่าคนรวยเสียอีก การจะมีรถ มีบ้าน หรือเลื่อนฐานะเป็นคนรวยจึงนับว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งต้นตอของปัญหา ก็คือ “โครงสร้างภาษี” ในปัจจุบัน ที่ชนชั้นกลางถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงนั่นเอง
ซึ่งจากข้อมูลที่พี่ทุยลองไปส่องมา พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีบุคคลธรรมดาที่เสียภาษีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน และมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 2,000,000 คนที่มีรายได้อยู่ในช่วง 150,001 – 300,000 บาท
เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น เราขอพาไปทำความเข้าใจเรื่องของภาษีกันเพิ่มเติม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ภาษีจะถูกเรียกเก็บจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ “รายได้” และ “รายจ่าย” ของเราในทุก ๆ วัน
ภาษีที่เรียกเก็บจาก “รายได้” สามารถดูได้จากเงินได้ รายได้หรือกำไรที่เราสามารถหามาได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนชนชั้นกลางมักจะถูกเรียกเก็บ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ตามอัตราที่เป็นขั้นบันไดตามรูปข้างต้นนี้ โดยยิ่งมีรายได้สูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งถูกเรียกเก็บในระดับที่สูงยิ่งขึ้น โดยสูงที่สุดมากถึง 35% หรือพูดหยาบ ๆ คือเกือบ 1 ใน 3 ของเงินได้เลยทีเดียว
จากตรงนี้ ปัญหาแรก คือ การที่บุคคลไม่สามารถหัก “ค่าใช้จ่าย” ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและตรงกับความเป็นจริงได้ เพราะ สำหรับคนชนชั้นกลางโดยทั่วไปแล้วมักจะมีรายได้ 40(1) และ 40(2) ที่เป็นรายได้จากเงินเดือน โบนัส สวัสดิการ และรับจ้าง ที่หักค่าใช้จ่ายได้ สูงสุดเพียง 100,000 บาทต่อปี เท่านั้นเอง
อีกทั้ง “ค่าลดหย่อน” ที่เป็นทางเลือกในการลดภาระภาษี (นอกจากรายการลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท ที่ทุกคนสามารถใช้สิทธิได้เท่ากัน) ยังต้องใช้เงินเป็นตัวตั้งอีกต่างหาก กล่าวคือ ถ้าหากใครไม่สามารถมีเงินเหลือเพียงพอในการซื้อลดหย่อน ก็จะไม่สามารถลดภาระภาษีส่วนเพิ่มนี้ได้เลย
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ จึงทำให้ในภาพรวมเเล้ว “รายได้สุทธิ” ของชนชั้นกลางถูกนำไปคิดภาษีในระดับสูงนั่นเอง
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเทียบ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” จะพบว่า ฐานภาษีที่ถูกเรียกเก็บสูงสุดเพียงร้อยละ 20 และค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้นั้นไม่ได้ถูกจำกัดที่ 100,000 บาท แต่ยังสามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ด้วยเงื่อนไขเพียงข้อนี้ข้อเดียว จึงทำให้ภาษีที่จ่ายออกไปจริงอยู่ในอัตราส่วนที่ต่ำมากกว่า
ซึ่งแน่นอนว่าโดยทั่วไปแล้ว “คนชนชั้นกลาง” ส่วนใหญ่ก็คงไม่สามารถจัดตั้งหรือพร้อมสำหรับการจดนิติบุคคลอยู่เเล้ว ดังนั้น เลยทำให้ขาดสิทธิประโยชน์และเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ด้านภาษีไปเต็ม ๆ
ส่วนการเรียกเก็บภาษีจาก “รายจ่าย” ที่พูดถึงก็คือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ณ ปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 7 ของราคาสินค้า/บริการ ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผิน อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร เพราะอย่างไรก็โดนบวก 7% กันทุกคน
ซึ่งหากลองมองในภาพที่กว้างยิ่งขึ้น มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น..
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. และ นาย ข. ที่ซื้อของในราคา 10,000 บาทเท่ากัน ถูกเรียกเก็บ VAT ร้อยละ 7 ที่ 700 บาทเท่ากัน ซึ่งนาย ก. มีรายได้ปีละ 200,000 บาท ในขณะที่นาย ข. มีรายได้ปีละ 2,000,000 บาท
จากสถานการณ์ตัวอย่างตรงนี้ จะเห็นได้ว่าภาระภาษีที่เกิดขึ้นของนาย ก. อยู่ที่ระดับ 0.35% ส่วนนาย ข. ที่มีรายได้สูงกว่า มีภาระเพียง 0.035% เท่านั้น ดังนั้นการเรียกเก็บ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ในอัตราที่เท่ากันสำหรับคนทุกคน จึงสร้างความได้เปรียบแก่ผู้ที่มีฐานะมากกว่านั่นเอง
ทั้งนี้ ก็มีภาษีบางตัวที่ถูกเรียกเก็บจากเฉพาะผู้มีรายได้สูงเท่านั้น อย่างการเรียกเก็บภาษีจาก “สินทรัพย์” อย่างเช่น ภาษีมรดก และภาษีการให้ แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเว็บไซต์ govspending.data.go.th กลับแสดงให้เห็นว่าภาษีส่วนนี้ยังถูกเรียกเก็บได้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยมาก ๆ อย่างภาษีมรดกในปี 2564 เรียกเก็บได้เพียง 408.68 ล้านบาท และในปี 2565 เก็บได้เพียง 186.52 ล้านบาทเท่านั้น
และเมื่อภาครัฐเรียกเก็บภาษีได้แล้ว แหล่งใช้ไปของภาษีก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าติดตามเช่นกัน
ซึ่งถ้าหากถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม และถูกต้องก็ต้องมีส่วนช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ เหล่านี้ลดลงได้ ตัวอย่างเช่น การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ทางเดินเท้า ชลประทาน ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา โทรคมนาคม หรือการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนหมู่มากในสังคมได้ ก็จะยิ่งเป็นการซัพพอร์ตค่าใช้จ่าย ช่วยให้มีสภาพคล่อง มีเงินเหลือไปลงทุน หรือไปสร้างเนื้อสร้างตัวได้มากขึ้น
สุดท้ายแล้วโครงสร้างภาษีเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเป็นเพียงอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางก้าวข้ามไปสู่คนรวยได้ยาก เพราะสำหรับประเทศไทยเรา ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกต่าง ๆ มากมายที่ควรลงมือแก้ไขและพัฒนา ไว้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฝั่งในแง่มุมต่าง ๆ เพิ่มเติมนะ
ข้อมูลจาก : moneybuffalo