ทำไมทั้งโลกถึงไม่ใช้ สกุลเงินเดียวกัน

Posted by nor-arfah on May 22, 2023

ใครที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศ ลงทุนในต่างประเทศ หรือกระทั่งซื้อของออนไลน์ในแอปฯ ต่างประเทศ น่าจะต้องเคยมีประสบการณ์การแปลงค่าเงินอันปวดหัวกันแน่ ๆ โดยเฉพาะช่วงที่สวิงขึ้น ๆ ลง ๆ เนี่ย เรียกได้ว่าต้องมานั่งคำนวณกันทุกวัน แล้วทำไม ? เราถึงไม่ใช้สกลุเงินเดียวกันไปเลยล่ะ ? ถ้าอยากรู้ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังกันง่าย ๆ

เคยสงสัยกันมั้ยว่า “ทำไมโลกเราไม่ใช้สกุลเงินเดียวทั้งโลกให้จบ ๆ ไปเลย เวลาจะไปเที่ยวหรือไปลงทุนที่ต่างประเทศจะได้ไม่ต้องมาคอยปวดหัวแลกเงินไปมาให้เหนื่อย”

ซึ่งเหตุผลของเรื่องนี้ก็สามารถเล่าให้เข้าใจกันง่าย ๆ เลย แต่ก่อนอื่นจะต้องไปทำความรู้จัก “ค่าเงิน” กันให้มากขึ้นกัน

“สกุลเงิน” หรือที่เราจะเรียกติดปากกันว่า “ค่าเงิน” นั้นมีไว้เพื่อช่วย “รักษาเสถียรภาพทางการเงิน (Stabilizer)” ของแต่ละประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินไป โดยเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ ทั้งด้านความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและวินัยทางการเงิน ที่แต่ละประเทศมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน ทำให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา

ตัวอย่างเช่น ประเทศไหนที่เศรษฐกิจไม่ดี จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องการกู้ยืมเงินมากขึ้น ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงจากวินัยทางการเงินที่แย่ลงได้ แต่การที่ค่าเงินอ่อนค่าก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเท่านั้น ในอีกแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมเพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามา ดังนั้น ก็จะช่วยทำให้ค่าเงินไม่อ่อนมากเกินไปจนเกิดความเสียหายหนักได้

สำหรับใครที่มีกิจกรรมหรือธุรกรรมกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวหรือไปลงทุนที่ต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเราจำเป็นที่ต้องแลกจาก “สกุลเงินบาท” เป็นสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ก่อนเสมอ

ซึ่งถ้าหากเราแลกในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง เราก็จะสามารถแลกสกุลเงินอื่น ๆ ได้เยอะขึ้น ในทางกลับกันถ้าแลกในช่วงเงินบาทอ่อนก็จะแลกสกุลเงินอื่นได้น้อย ก่อนจะไปไหนหรือทำธุรกรรมต่างประเทศอย่าลืมดูเรื่องของ “ค่าเงิน” และแนวโน้มในอนาคตด้วย ก็จะช่วยทำให้เราบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยทั่วไปแล้วค่าเงินจะ แข็ง-อ่อนค่า จะขยับตามกฎของ Demand และ Supply เป็นหลัก กล่าวคือ ถ้าสกุลเงินไหนมีคนอยากได้มาก ก็จะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น แต่หากมีแต่คนอยากเทขาย อยากเอาเงินนี้แลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่น ก็จะทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงนั่นเอง

สำหรับ “ความต้องการซื้อ(Demand)” ของแต่ละสกุลเงิน ถ้าหากถือสกุลเงินนั้นแล้วเอาไปใช้งานได้ หรือช่วยสร้างผลตอบแทนงอกเงยเพิ่มได้ หรือถือแล้วอุ่นใจ มั่นคงมีเสถียรภาพที่ดี สกุลเงินนั้นก็มักจะเป็นที่ต้องการ และส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันถ้าหากประเทศนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อสูง หรือมีปัญหาเฉพาะตัวที่ทำให้มีความเสี่ยงก็จะทำให้คนเทขาย ค่าเงินก็จะอ่อนค่าลงนั้นเอง

ส่วน “ความต้องการขาย (Supply)” หรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้น จะขึ้นอยู่กับ “นโยบายการเงิน” ของแต่ละประเทศว่ามีนโยบายทางการเงิน ณ เวลานั้นเป็นอย่างไร ถ้าหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มเติม แปลว่าเงินในระบบจะมีเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าลงนั่นเอง

โดยสรุปก็คือ “ค่าเงิน” จะเป็นตัวสะท้อนพื้นฐานของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในช่วงเวลาหนึ่งนั่นเอง

ข้อมูลจาก : moneybuffalo